วางแผนการเงิน เพราะชีวิตมีความไม่แน่นอน
การวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับบุคคลทั่วไป ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ แม้ว่าสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดการณ์ไว้บ้างก็ตาม แต่ถ้ามีแผนการเงิน แม้เศรษฐกิจย่ำแย่แค่ไหน ก็แทบไม่มีปัญหา
แผนการเงินส่วนบุคคลจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและตัดสินใจทางการเงิน เพื่อให้คุณสามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินที่คุณต้องการ
ใครๆ ก็รู้การ”วางแผนการเงิน” เป็นเรื่องดีต่อสุขภาพทางการเงิน แต่ใช่ว่าทุกคนจะลงมือวางแผนการเงินกันอย่างจริงจัง ทั้งที่ในความเป็นจริง มีเหตุผลดีๆ ร้อยแปดพันประการที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้คนเห็นข้อดีของการวางแผนการเงิน
กลั่นกรองเหตุผลดีๆ 10 ข้อมาชวนให้คุณควรลงมือวางแผนการเงิน โดยรวบรวมจากความเห็นของบรรดาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินมานำเสนอ
แต่ไม่ว่าจะเป็นแผนการออม แผนการบริหารหนี้ แผนการลงทุน แผนการบริหารความเสี่ยง แผนเกษียณ แผนภาษีอากร หรือแผนมรดก ก็ควรจะเป็นแผนที่มีเป้าหมายชัดเจนและวัดผลได้ หลายคนบอกว่าไม่จำเป็นหรอก ฉันไม่ได้มีเงินรวยล้นฟ้า ไม่เห็นต้องทำแผนการเงินเลย อย่าคิดว่ามีแต่คนรวยเท่านั้นที่ต้องวางแผนการเงิน ถึงแม้คุณจะเริ่มต้นด้วยเงินเพียงหยิบมือเดียว ก็ไม่เห็นเป็นปัญหาถ้าจะลงมือทำแผนการเงินโดยเริ่มต้นด้วยทรัพย์สินเท่าที่มี
อย่ารอจนมีความเดือดร้อนทางการเงินก่อน แล้วถึงค่อยคิดวางแผน เริ่มต้นวางแผนเสียแต่วันนี้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปหรือเร็วเกินไปแน่นอน
ลองมาฟังผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงิน พูดถึงเหตุผลดีๆ ที่คุณควรวางแผนการเงินกันดีกว่า ว่าพวกเขาจะมีเหตุผลอะไรบ้างที่จะมาชักชวนและโน้มน้าว
1 เพราะมนุษย์เราอายุยืนยาวขึ้นทุกวัน
เรื่องนี้ “วิเชฐ ตันติวานิช”กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) ให้ความเห็นว่า เหตุผลข้อแรกเลยที่เราควรใส่ใจกับการวางแผนการเงิน ก็เพราะแนวโน้มมนุษย์เราอายุยืนยาวขึ้น ดังนั้น โอกาสที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อดูแลตัวเองในยามชราจึงมีเยอะขึ้น เราจึงควรวางแผนการเงิน เพื่อเตรียมเงินเอาไว้ใช้ในช่วงชีวิตนั้น
“ใครที่เคยคิดว่า ไม่ต้องสะสมเงินออมอะไรให้มันเยอะหรอก ไม่รู้จะได้ใช้ตอนแก่รึเปล่า เผลอๆ จะตายซะก่อน ผมบอกได้เลยว่าเดี๋ยวนี้คนเราอายุเยอะขึ้นทั้งหญิงและชาย ถ้าอายุยืนแล้วไม่มีเงินใช้ อันนั้นผมว่าน่ากลัว “ความเห็นวิเชฐ
“วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.กสิกรไทย ในฐานะประธานชมรมนักวางแผนการเงิน ให้ความเห็นถึงหัวข้อนี้ว่า ถ้าไม่อยากลำบากตอนแก่ต้องลงมือวางแผนทางการเงินซะ เพราะนี่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน สังคมไทยในปัจจุบันมีความซับซ้อน มีความไม่แน่นอนมากกว่าในอดีต ที่เป็นสังคมเกษตรกรรมที่สามารถหากินได้ง่าย หรือหากรับราชการก็จะมีสวัสดิการที่ดีแม้จะเกษียณอายุไปแล้วก็ตาม แต่ทุกวันนี้มีผู้ใช้แรงงานและทำงานบริษัทเอกชนมากขึ้น ซึ่งค่าแรงและสวัสดิการที่ได้รับอาจไม่เพียงพอ
ข้อสำคัญคือ คนไทยยังมีอายุยืนยาวขึ้น โดยเพศชายมีอายุขัยเฉลี่ย 73 ปี เพศหญิงเฉลี่ย 75 ปี ทำให้ช่วงชีวิตหลังเกษียณยืนยาวมากขึ้น อีกทั้งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ประชากรสูงวัยในปัจจุบันซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 8.2% จะเพิ่มเป็น 15.6% ในอีก 30 ปีข้างหน้า
การวางแผนการเงินจะครอบคลุมไปถึงการวางแผนชีวิต การประกอบอาชีพ การออม การลงทุน การใช้จ่ายและการเกษียณอายุอีกด้วย การวางแผนชีวิตและการวางแผนการเงินต้องมีเป้าหมายที่แน่นอนว่าจะต้องออมมากน้อยเพียงใด ใช้เวลานานเท่าใด และควรต้องมีการทบทวนแผนอยู่เสมอ
“เรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์” อดีตนักการเงินผู้เชี่ยวชาญด้าน Personal Finance ให้ความสอดรับกับวิเชฐและวิวรรณว่า ปัจจุบันคนเราอายุยืนขึ้น ดังนั้น เรายิ่งต้องใส่ใจกับการวางแผนการเงิน และเมื่อต้องใช้ชีวิตในบั้นปลาย หากปราศจากเงินทองมาจุนเจือก็กลายเป็นปัญหาได้ อย่างน้อยก็จะได้ไม่เป็นภาระต่อคนอื่น
2 เพราะชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
วิวรรณบอกว่าชีวิตนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ดังนั้น การวางแผนการเงิน จะช่วยให้ความไม่แน่นอนไม่เป็นปัญหาหนัก
หลายคนอาจจะเผชิญหน้ากับเรื่องยุ่งยากของชีวิต หรือความไม่แน่นอนในชีวิต เช่นตกงาน โดนนายจ้างเลย์ออฟ หรือญาติพี่น้องเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลจนต้องใช้เงิน ถ้าหากคุณไม่มีการวางแผนการเงิน แน่นอนว่าจะต้องแบกรับภาระอันใหญ่หลวง และเป็นมูลเหตุให้สร้างหนี้สินได้ในที่สุด
“ทุกคนสามารถพบกับปัญหาในการใช้จ่ายเงินได้ ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อยก็ตาม แต่หลักการสำคัญก็คือการวางแผนการเงินจะทำให้ผู้ที่มีเงินใช้ไม่พอ มีรายได้มากขึ้นและสามารถมีเงินออมได้ ขณะที่ผู้ที่มีเงินมากอยู่แล้ว ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าของเงินหรือเพิ่มความมั่งคั่งได้ ไม่ว่าใครก็ตาม สามารถวางแผนการเงินสำหรับตนเองได้ หรืออาจปรึกษาจากมืออาชีพก็ได้ เช่นพวกผู้จัดการกองทุน” วิวรรณให้ทัศนะ
วิเชฐเสริมว่า เราควรจะเริ่มต้นวางแผนการเงินให้เร็วที่สุด คนที่รู้จักเก็บเงินแต่เนิ่นๆ ลงทุนจำนวนเล็กน้อย แต่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์การเงินได้ดีกว่าคนที่เริ่มต้นเมื่อสาย การมีวินัยทางการเงิน รู้จักเก็บออม ควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม วางแผนการลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงของตัวเอง จะรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางการเงินหรือความเปลี่ยนแปลงทางการเงินได้ดีกว่า
เรืองวิทย์บอกว่าความไม่แน่นอนในชีวิตเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ พอมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น ถ้าไม่มีการวางแผนทางการเงินที่ดี ไม่มีเงินสำรองไว้รับมือกับเรื่องฉุกเฉินของชีวิต พอไม่มีทางออกก็จะเริ่มขาดสติและปัญญา ท้ายสุดก็อาจจะหันไปกู้หนี้ยืมสิน
3 เพราะทำให้ใช้ชีวิตอย่างไม่สะเปะสะปะ-มีสติ
“วนา พูนผล”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบีไทย พูดถึงเหตุผลที่คนเราควรวางแผนการเงินว่าจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่สะเปะสะปะ เปรียบเหมือนการเดินทางที่มีเข็มทิศ ไม่ต้องลดเลี้ยวไปมาให้หลงทางเปล่าๆ เพราะการวางแผนการเงินก็เหมือนเป็นการอยู่อย่างมีเป้าหมาย
“การวางแผนการเงินก็เหมือนกับการเดินถนนนั่นเอง การวางแผนการเงินก็ทำให้เราเดินถนนอย่างไม่หลงทาง เมื่อรู้ว่าเป้าหมายเราอยู่ตรงไหน เป็นยังไง เราก็สามารถเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกทาง ข้อสำคัญผมว่าการวางแผนการเงินทำให้เรารู้จักใช้เงิน หรือใช้เงินเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย”
4 เพราะค่านิยมของบ้านเราเปลี่ยนไป
วิเชฐให้ความเห็นถึงเหตุผลอีกข้อหนึ่งว่า ทุกวันนี้ค่านิยมของการดำเนินชีวิตในบ้านเราเปลี่ยนไป การเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามชรามีให้เห็นน้อยลง เมื่อลูกเติบโตขึ้นก็มักจะแยกย้ายออกไปสร้างครอบครัวใหม่
“ดังนั้น เมื่อเราอายุเยอะขึ้น ก็ต้องเตรียมใจว่า เราอาจจะต้องดูแลตัวเองเป็นหลัก จะคาดหวังให้ลูกหลานมานั่งเลี้ยงหรือดูแลเหมือนคนสมัยก่อนคงไม่ได้”
เพราะฉะนั้น เมื่อเราเกิดมา ก็ควรทำให้ตัวเองมีคุณค่า พึ่งพาตัวเองได้ วางแผนการเงินเอาไว้ ไม่ใช่ใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ต้องใช้ชีวิตอย่างรอบคอบมากขึ้น แต่ไม่ใช้กลัวไปซะทุกเรื่อง ข้อสำคัญ คิดถึงอนาคตให้มากเข้าไว้ อนาคตที่มีแนวโน้มว่าอาจจะต้องเลี้ยงดูตัวเอง
5 เพราะอนาคตค่าครองชีพแพงขึ้น
อีกข้อหนึ่งที่เป็นเหตุผลชอบธรรมที่วิเชฐเห็นว่า เราควรวางแผนการเงิน นั่นคือ อนาคตใน 10-15 ปี ข้างหน้า ไม่ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเป็นเท่าไหร่ แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือแนวโน้มราคาข้าวของและสินค้าจะแพงขึ้นเท่าตัวอย่างแน่นอน “การมีเงิน 3 ล้านในวันนี้ กับใน 10 ปีข้างหน้ามูลค่าก็แตกต่างกัน เราอาจจะคิดว่าเรามีแค่ 3 ล้านน่าจะพอ อาจจะพอก็ได้ เพราะคุณไม่สามารถซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 20-30 บาทได้อีกต่อไป”
นอกจากนี้ วิเชฐยังมองว่า ราคาสินค้าอาจจะแพงขึ้นอย่างที่เราคาดไม่ถึง หากมีความเสี่ยงเฉพาะกิจหรือสถานการณ์ร้ายๆ ที่ไม่คาดการณ์มาก่อน ก็จะเกิดอัตราเร่งให้ราคาสินค้าแพงเร็วขึ้น ซึ่งหากเจอปัญหาเฉพาะหน้าบางอย่างเหล่านี้ แต่ไม่เคยมีการวางแผนเงินไว้เลย รับรองว่าแย่แน่ๆ”
6 อนาคตเด็กๆ จะมีโอกาสได้งานดีๆ ได้เงินดีๆ มีน้อยลง
เพราะเดี๋ยวนี้คนมีการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น ปริญญาโทถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของการศึกษาไปแล้ว เดี๋ยวนี้คนจบปริญญาโทก็อาจจะตกงานได้
“ผมว่าเราควรหันมาใส่ใจเรื่องการวางแผนการเงินกันให้มาก จริงอยู่ทุกวันนี้คนวางแผนการเงินยังไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดบ่อยๆ กระตุ้นกันเยอะๆ ในที่สุด ผู้คนก็จะหันมาวางแผนการเงินกันมากขึ้น ผมว่าคนรุ่นใหม่ควรจะสนใจเรื่องพวกนี้ เพราะอย่างที่ผมบอกเดี๋ยวนี้อายุยืนขึ้นทั้งหญิงและชาย”
7 เพราะทำให้เรารู้เท่าทันตัวเอง
วนามีเหตุผลอีกหนึ่งอย่างที่เขาเห็นว่า เราๆ ท่านๆ ควรวางแผนการเงินอย่างยิ่ง นั่นก็เพราะจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างรู้เท่าทันตัวเอง เพราะถ้าคุณไม่เคยวางแผนการเงิน คุณก็จะไม่รู้ว่าปัจจุบันมีเงินเท่าไหร่ มีสินทรัพย์แค่ไหน หรือมีหนี้สินอะไรบ้าง
แต่การวางแผนการเงินจะทำให้เราทำงบดุลของตัวเอง บางคนไม่เคยทำงบดุลของตัวเองเลย แต่ถ้าเมื่อมีการวางแผนการเงิน ก็จะบีบให้ทำงบดุลไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นรายเดือนหรือรายไตรมาสก็ตามที
“ผลพลอยได้ของการวางแผนการเงิน คือทำให้เราขวนขวายหาความรู้ หาช่องทางการลงทุนที่ดีให้กับตัวเอง เช่นก่อนเราจะวางแผนทางการเงิน เราก็อาจจะได้แต่ฝากแบงก์ แต่พอรู้จักวางแผนการเงิน ก็ทำให้เรารู้จักช่องทางลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากแบงก์” ความเห็นของวนา
8 เพราะทำให้เราเกษียณอายุได้เร็วขึ้น
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากทำงานไปจนเกษียณอายุ หรือพูดง่ายๆ คืออยากจะเกษียณตัวเองจากการทำงานให้เร็วขึ้น แทนที่เป็น 55 ก็อาจจะสัก 50 พอ
วนาบอกคุณเองก็เกษียณอายุจากการทำงานได้เร็วขึ้น หากมีการวางแผนการเงินที่ดีและเริ่มต้นเร็ว เพราะเมื่อวางแผนการเงินได้เร็ว มีเป้าหมาย รู้จักวิธีการลงทุน คุณก็สามารถเดินไปสู่เป้าหมายได้เร็วกว่าคนที่ไม่มีแผนการเงิน
“เหนืออื่นใด คุณต้องวางแผนการเงินให้เพียงพอต่อความต้องการกับไลฟ์สไตล์ในบั้นปลายของคุณด้วย ปัจจุบันคนเรามีอายุที่ยืนยาวขึ้น การหยุดรายได้ประจำที่เคยได้รับ สุขภาพร่างกายที่ถดถอยลง สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณต้องมีเงินจำนวนมากไว้ใช้จ่ายตอนแก่ แต่ทุกอย่างที่ว่าไม่เป็นปัญหาถ้ารีบวางแผนเร็ว”
9 เพราะเมื่อไม่มีคุณ คนข้างหลังจะได้ไม่ลำบาก
วิวรรณบอกว่า หากบังเอิญว่าคุณเป็นครอบครัวใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่นอีกหลายชีวิต เช่น ภรรยา สามี ลูก หรือ พ่อ แม่ พี่ น้อง หากเราไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว แต่ถ้ามีการวางแผนทางการเงินที่ดี คนที่อยู่ข้างหลังก็จะใช้ชีวิตอยู่ได้ อย่างไม่ลำบาก
“เพราะแผนการเงินที่ดี จะช่วยปกป้องคุณและครอบครัวที่คุณรัก ซึ่งเราก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการบริหารความเสี่ยงในชีวิต ในวงเงินที่เหมาะสม ไม่มากไป ไม่น้อยไป”
@เพราะมีเงินไว้หาประโยชน์จากโอกาสดีๆ ได้
ผลพลอยได้ของการรู้จักวางแผนการเงิน ท้ายที่สุดจะทำให้คุณมีเงินออมเก็บไว้ และหากมีโอกาสดีๆเข้ามาหาวิวรรณบอกว่า คุณก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสดีๆ ได้อย่างทันท่วงที
เช่นกรณีที่ตลาดหุ้นได้ตกลงมาในระดับหนึ่ง ทำให้ราคาของหุ้นตัวหนึ่งซึ่งพื้นฐานดีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วร่วงลงมาเยอะ ถ้าคุณมีเงินออมส่วนหนึ่งที่เตรียมวางแผนเอาไว้ลงทุนอยู่แล้ว ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่คุณจะได้ซื้อของดีราคาถูกได้อย่างถูกจังหวะ
ตรงกันข้าม ถ้าไม่เคยวางแผนการเงินเลย เงินออมก็ไม่มี เวลามีจังหวะดีๆ ทางการลงทุน คุณก็มานั่งเสียดายเพราะไม่มีเงินออมเก็บไว้
10 เพราะเป็นเข็มทิศสู่ความสำเร็จ & อิสรภาพทางการเงิน
การวางแผนการเงิน เมื่อทำเป็นประจำและมีวินัย ท้ายสุดก็กลายเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ติดตัวคุณไป และนำไปประยุกต์วางแผนกับเรื่องอื่นๆ ของชีวิต
วิวรรณบอกว่าแผนการเงินก็เหมือนแผนการอื่นๆ คือ วางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
ขณะที่เรืองวิทย์ให้ข้อคิดดีๆ ว่า “เมื่อรู้ว่าชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เราก็ควรจะใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท มีสติอยู่ตลอด การวางแผนการเงิน ถือว่าเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตของคนที่มีสติและปัญญา มีเหตุผล รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และพร้อมรับมือกับปัญหาความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น นั่นทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย และเดินตามเป้าหมายอย่างถูกทาง ซึ่งท้ายสุดคนที่วางแผนการเงิน ก็จะกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แน่นอนว่าคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตต้องอาศัยหลายปัจจัยประกอบกัน แต่ต้องยอมรับว่าการวางแผนเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คุณก้าวไปสู่เส้นชัยของอิสรภาพทางการเงินได้”
ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลดีๆ ที่น่าจะจูงใจให้คุณหันมาลงมือวางแผนการเงินกันตั้งแต่วันนี้
ขอบคุณบทความดีดี เขียนโดย : คุณกาญจนา หงษ์ทอง ที่มา : http://www.nationejob.com
แนะนำ LINK สถานะทางการเงิน 10 ประการ
คลิกดู พิมพ์ซองจดหมาย