ตับอักเสบ
ูดูแลสุขภาพ t

ตับอักเสบ

81 / 100

ตับอักเสบ

ตับอักเสบ

ตับอักเสบ (Hepatitis)

เป็นภาวะอักเสบที่เกิดบริเวณตับ อาจเกิดจากจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือสาเหตุอื่น ๆ อย่างการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก การใช้ยาเสพติด ผลข้างเคียงจากการใช้ยา การได้รับสารพิษโรคอ้วน และกลุ่มอาการเมตาบอลิค รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันทำลายตับเอง ทำให้ตับเกิดความเสียหายจนเกิดอาการป่วยต่าง ๆ ตามมา หากตับอักเสบอย่างเรื้อรัง อาจทำให้การทำงานของตับผิดปกติ เกิดโรคตับแข็ง หรือเสี่ยงเป็นมะเร็งตับได้

ตับอักเสบเฉียบพลัน

ตับอักเสบชนิดเฉียบพลันอาจไม่ปรากฏอาการอย่างชัดเจน ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคตับอักเสบ แต่หากป่วยจนอาการกำเริบ อาจสังเกตพบอาการได้ ดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้าตลอดเวลา
  • ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
  • รู้สึกไม่สบาย มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • อุจจาระสีซีด
  • ปวดท้อง
  • เบื่ออาหาร
  • คันตามผิวหนัง
  • น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ภาวะดีซ่าน หรือมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง

ตับอักเสบเรื้อรัง

หากตับอักเสบอย่างเรื้อรังอาจไม่พบอาการชัดเจนใด ๆ จนกระทั่งตับเริ่มทำงานได้ไม่เต็มที่หรือมีภาวะตับวาย ซึ่งอาจตรวจพบได้จากผลการตรวจเลือด หรือผู้ป่วยอาจมีอาการปรากฏในระยะต่อมา เช่น

  • ภาวะดีซ่าน
  • ขา เท้า และข้อเท้าบวม
  • รู้สึกสับสน
  • อาเจียนหรืออุจจาระเป็นเลือด

สาเหตุของตับอักเสบ

ตับอักเสบอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส

  • ตับอักเสบ เอ เป็นชนิดที่พบได้บ่อยในประเทศที่มีระบบสาธารณะสุขไม่ดี เกิดจากการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (Hepatitis A Virus: HAV) ผ่านทางการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสซึ่งออกมาจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ โดยประเทศกำลังพัฒนาจะมีการแพร่กระจายเชื้อมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว
  • ตับอักเสบ บี สามารถติดต่อผ่านทางเลือดหรือของเหลวในร่างกาย จากแม่สู่ลูก จากการมีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B Virus: HBV) พบได้มากในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย
  • ตับอักเสบ ซี เกิดจากการได้รับของเหลวจากร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี (Hepatitis C Virus: HCV) โดยตรง ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือติดต่อผ่านทางเลือดจากแม่สู่ลูก ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ประมาณ 70-85% อาจป่วยเรื้อรังและเผชิญปัญหาสุขภาพระยะยาว หรืออาจป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ตับอักเสบ ดีเป็นชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อย เกิดจากการรับเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดดี (Hepatitis D Virus: HDV) จากเลือดของผู้ที่ติดเชื้อโดยตรง และเกิดขึ้นกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี เท่านั้น เพราะไวรัสตับอักเสบชนิดดีไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้หากไม่มีไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย
  • ตับอักเสบ อี เป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอี (Hepatitis E Virus: HEV) จากการบริโภคน้ำดื่มหรืออาหารที่มีอุจจาระที่ติดเชื้อปนเปื้อนอยู่ พบได้ในประเทศแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง และแอฟริกา โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาด้านสาธารณสุข ระบบจัดการน้ำไม่ดี น้ำดื่มปนเปื้อน หรือการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อฆ่าเชื้อก่อน

ตับอักเสบจากยาและได้รับสารพิษ

การใช้ยาเกินปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด หรือแม้แต่การใช้ยาบางชนิดในปริมาณน้อยก็อาจสร้างความเสียหายต่อตับได้ เช่น ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของพาราเซตามอล ยากลุ่มเอ็นเสด ยาคุมกำเนิด ยาแก้อักเสบอะม็อกซีซิลลินที่มีส่วนผสมของคลาวูลาเนท ยากลุ่มซัลฟา ยากลุ่มสแตติน ยาอะมิโอดาโรน ยาอะนาบอลิกสเตียรอยด์ ยาคลอร์โปรมาซีน ยาอิริโทรมัยซิน ยาเมทิลโดปา ยาไอโซไนอาซิด ยาเมโธเทรกเซท ยาเตตราไซคลีน และยากันชักบางชนิด เป็นต้น

นอกจากนี้ การได้รับสารเคมีบางชนิดเข้าสู่ร่างกายก็อาจทำให้ตับอักเสบได้ เช่น สารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ สารกำจัดศัตรูพืชพาราคว็อท และสารโพลีคลอริเนตไปฟีนิล รวมถึงสมุนไพรและอาหารเสริมบางชนิดก็อาจมีพิษต่อตับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบริโภคไม่ถูกวิธี เช่น ว่านหางจระเข้ แบลคโคฮอส คอมเพรย์ อีเฟรดา คาวา เป็นต้น

ตับอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดพลาด โจมตีและขัดขวางการทำงานของตับ ทำให้ตับเสียหายจนอาจเกิดการอับเสบตั้งแต่ชนิดไม่รุนแรงจนถึงขั้นรุนแรง โดยสาเหตุนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับเพศหญิงได้มากกว่าเพศชายประมาณ 3 เท่า

ตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากอาจเป็นเหตุให้ตับเกิดความเสียหายหรืออักเสบได้ เพราะแอลกอฮอล์จะทำลายเซลล์ตับ หากปล่อยไว้นานและไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ตับเสียหายถาวร นำไปสู่ภาวะตับวายและโรคตับแข็งได้

ตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอลล์ หรือ NASH (Nonalcoholic Steatohepatitis) เป็นภาวะตับอักเสบที่เกิดจากไขมันพอกตับ มักไม่ค่อยพบอาการแสดง หรืออาการแสดงอาจปรากฏขึ้นเมื่อตับอักเสบเข้าสู่ภาวะที่รุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้มีอาการ เช่น เมื่อยล้าอ่อนแรงอย่างหนัก น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้ ปวดท้องด้านขวาบนบริเวณใต้ชายโครง ภาวะดีซ่านหรืออาการตัวเหลืองตาเหลือง เป็นต้น และภาวะนี้อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นที่ตับจนนำไปสู่โรคตับแข็งได้ในที่สุด ดังนั้น ทัศนคติของบุคคลทั่วไปที่ว่าตนไม่ได้ดื่มแอลกอฮอลล์อย่างหนักก็ไม่น่าจะเป็นโรคตับอักเสบหรือตับแข็งได้จึงไม่เป็นความจริง โดยภาวะ NASH พบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในประชากรปัจจุบัน จากสถิติของประเทศที่มีประชากรจำนวนมากอย่างสหรัฐอเมริกา พบว่า 2- 5 % ของชาวอเมริกันป่วยด้วยภาวะ NASH ซึ่งการดำเนินโรคเริ่มจากการเกิดไขมันสะสมในตับ จากนั้นอาจมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ พังผืด และการตายของเซลล์ตับ โดยมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคอ้วน โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง และภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น

การวินิจฉัยตับอักเสบ

ภาวะตับอักเสบอาจตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพประจำปีแล้วพบว่ามีค่าเอนไซม์ตับสูงผิดปกติ หรือมีอาการของตับอักเสบ โดยในเบื้องต้นเมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วย เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรค และตรวจร่างกายบริเวณท้อง ดูว่าผู้ป่วยมีอาการเจ็บหรือปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงด้านขวาหรือไม่ แล้วตรวจหาอาการตับโต และอาจมีการทดสอบอื่น ๆ เพื่อวินิจฉัยตับอักเสบร่วมด้วย เช่น

  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจการทำงานของตับ หากพบว่ามีเอนไซม์ตับปริมาณมาก อาจแสดงถึงความเสียหายในตับหรือตับทำงานไม่ปกติ แต่หากแพทย์ต้องการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุของตับอักเสบ อาจใช้ชุดตรวจอื่น ๆ เช่น ตรวจสารต้านภูมิคุ้มกัน เพื่อหาสาเหตุของตับอักเสบจากเชื้อไวรัส หรือตรวจการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต้านตนเอง เป็นต้น
  • การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงสร้างภาพอวัยวะภายในช่องท้อง เพื่อดูลักษณะของตับ ขนาดของตับ ความเสียหายของตับ เนื้องอกในตับ ความผิดปกติของถุงน้ำดี และระดับของเหลวภายในช่องท้อง
  • การตรวจชิ้นเนื้อ แพทย์อาจใช้อัลตราซาวด์เพื่อนำทาง แล้วเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อจากตับด้วยการใช้เข็มจิ้มผ่านทางผิวหนัง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์และการอักเสบของตับในห้องปฏิบัติการต่อไป

การรักษาตับอักเสบ

วิธีการรักษาจะแตกต่างกันตามประเภท สาเหตุ และความรุนแรงของตับอักเสบ ดังนี้

ตับอักเสบจากเชื้อไวรัส

  • ตับอักเสบ เอ เป็นการป่วยระยะสั้น ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีเฉพาะ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ผู้ป่วยที่ท้องเสียหรืออาเจียน ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและขาดสารอาหาร
  • ตับอักเสบ บี หากเป็นชนิดเฉียบพลันอาจมีการรักษาเฉพาะ แต่ชนิดเรื้อรังอาจต้องได้รับยาต้านเชื้อไวรัสหรือยาอื่น ๆ แพทย์ต้องประเมินการรักษาเป็นประจำ และประเมินการตอบสนองของไวรัส ซึ่งอาจต้องใช้เวลารักษาต่อเนื่องนานหลายเดือนหรือเป็นปี
  • ตับอักเสบ ซี อาจต้องได้รับยาต้านไวรัส ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังอาจต้องรักษาด้วยการผสมยาต้านไวรัสหลายชนิด และอาจต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับสำหรับผู้ที่ตับอักเสบติดเชื้อเรื้อรังหรือเป็นโรคตับแข็ง
  • ตับอักเสบ ดี ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสตับอักเสบ ดี
  • ตับอักเสบ อี ยังไม่มีการรักษาเฉพาะสำหรับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ อี เนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่ค่อนข้างเฉียบพลันและหายเองได้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ อี ที่กำลังตั้งครรภ์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

ตับอักเสบจากการใช้ยา

รักษาได้ด้วยการหยุดใช้ยาหรือสารที่เป็นต้นเหตุทำให้ตับอักเสบ และรักษาตามอาการป่วยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น

ตับอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

เป้าหมายหลักในการรักษา คือ ยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อยับยั้งการอักเสบของตับด้วย อาจต้องใช้ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซน และยากดภูมิคุ้มกัน เช่น อะซาไธโอพรีน ซึ่งอาจใช้ยาเพียงชนิดเดียว หรืออาจใช้รักษาร่วมกันทั้งสองชนิดก็ได้

ตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยควรหยุดดื่ม หรือควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ตับได้มีเวลาพักและฟื้นฟูตัวเอง โดยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการเลิกสุราได้ แต่หากยังคงดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเช่นเคย อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคตับแข็ง ภาวะตับวาย หรือมะเร็งตับได้ในอนาคต

ตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอลล์ (NASH)

ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะเจาะจงในการรักษาตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอลล์ แนวทางการรักษาจึงเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เลือกรับประทานอาหารที่ดีกับสุขภาพ ควบคุมน้ำหนัก ลดไขมันส่วนเกิน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตับ รักษาและควบคุมอาการของโรคประจำตัวอย่างเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง รวมทั้งหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นการทำงานของตับอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ตับสามารถกลับสู่ภาวะสมดุลและซ่อมแซมตัวเองได้ แต่หากอาการป่วยรุนแรงหรือเป็นอันตราย ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ภาวะเร่งรีบในชีวิตประจำวันอาจกระทบต่อการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วยตับอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถปรับพฤติกรรมได้ดีเท่าที่ควร จึงอาจพิจารณาใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีผลงานวิจัยรองรับ โดยอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เสมอ เช่น ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดธรรมชาติพรูนัส มูเม่ (Prunus Mume) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และอาจช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นกับตับ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของตับอักเสบ

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และซี ชนิดเรื้อรัง อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น โรคตับเรื้อรัง โรคตับแข็ง ตับวาย และโรคมะเร็งตับ ส่วนภาวะตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอลล์ (NASH) ก็อาจทำให้เกิดโรคตับแข็งได้เช่นกัน

นอกจากนั้น หากเกิดความเสียหายจนกระทบต่อการทำงานของตับ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะตับวาย และมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ได้ เช่น

  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ
  • ท้องมาน
  • ภาวะความดันสูงในระบบหลอดเลือดดำของตับ (Portal Hypertension)
  • ภาวะไตวาย
  • อาการทางสมองที่มีสาเหตุจากโรคตับ (Hepatic Encephalopathy)
  • มะเร็งตับ (Hepatocellular Carcinoma)
  • เสียชีวิต

การป้องกันตับอักเสบ

ตับอักเสบบางชนิดอาจไม่สามารถป้องกันได้ เช่น ตับอักเสบจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมากเกินไป แต่ตับอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ตับอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือตับอัักเสบจากการดื่มสุราปริมาณมาก อาจป้องกันได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • รักษาสุขอนามัย ล้างมือให้สะอาด ไม่ใช้เข็มฉีดยา มีดโกน แปรงสีฟัน แก้วน้ำ ช้อนส้อม และของใช้ส่วนตัวอื่น ๆ ร่วมกัน ไม่สัมผัสเลือดหรือของเหลวจากผู้ที่ติดเชื้อ หลีกเลี่ยงแหล่งน้ำที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อไวรัสตับอักเสบ
  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เนื่องจากไวรัสตับอักเสบบี ซี และดีสามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ การสวมถุงยางอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ด้วย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกหลักโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม โดยเน้นบริโภคอาหารจำพวกผัก ผลไม้ โปรตีน และคาร์โบไฮเดรต รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือหรือน้ำตาลในปริมาณมาก และหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เพื่อป้องกันการสะสมของไขมันในตับ
  • รับประทานอาหารอย่างระมัดระวัง เลือกรับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มหรือน้ำสะอาด โดยเฉพาะเมื่อเดินทางไปต่างถิ่น ควรระมัดระวังเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบต่าง ๆ
  • ฉีดวัคซีน อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอและบีได้ โดยปกติเด็กจะได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด แต่เด็กอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ อาจต้องตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันก่อนรับวัคซีน ในประเทศไทยสามารถติดต่อขอรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ อาจมีค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาล
  • ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้ตับได้พักจากการทำงานหนัก และป้องกันความเสี่ยงการเกิดตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์
  • ใช้ยาตามที่แพทย์กำหนด ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ทุกครั้งในการใช้ยา ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์หากอยู่ระหว่างการรับประทานยารักษาโรค และควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง หากเป็นโรคตับหรือกำลังใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง
  • เลือกอาหารเสริมอย่างรอบคอบ หากต้องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนบริโภคผลิตภัณฑ์ใด ๆ เสมอ เนื่องจากยา อาหารเสริม หรือแม้กระทั่งสมุนไพร อาจส่งผลต่อการดูดซึมของตับที่เปลี่ยนสารเหล่านี้ไปใช้งานในร่างกาย หากสารที่ได้รับเป็นอันตรายต่อตับ อาจนำไปสู่อาการป่วยหรือทำให้โรคที่ป่วยอยู่แย่ลงได้ ดังนั้น ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์มีความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐานองค์การอาหารและยารับรอง นำเข้าหรือผลิตอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ มีมาตรฐานการผลิตสูง รวมถึงผ่านการศึกษาทดลองทางการแพทย์แล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดนั้นจะช่วยดูแลบำรุงตับได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ขอบคุณบทความดีดีจาก  pobpad.com

แนะนำบทความ          ไตวาย

12 วิธีสร้างบุญมารมี

 

โรงพิมพ์ เจอาร์

โรงพิมพ์ เจอาร์

+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0