รายจ่ายค่าสวัสดิการพนักงาน
ประะเด็นรายจ่ายค่าสวัสดิการพนักงานมาเป็นประเด็นปุจฉา–วิสัชนา ดังต่อไปนี้
ปุจฉา มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรายจ่ายค่าสวัสดิการพนักงานที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานสำหรับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไร
วิสัชนา รายจ่ายค่าสวัสดิการพนักงาน หมายถึง รายจ่ายเพื่อประโยชน์ของพนักงานในอันที่จะให้เกิดผลดีแก่การดำเนินงานโดยรวมของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจแบ่งเป็น
1.รายจ่ายค่าสวัสดิการทั่วไป อาทิ กาแฟ เครื่องดื่ม น้ำดื่มยารักษาโรคเบื้องต้น
2.รายจ่ายค่าสวัสดิการที่มีระเบียบข้อบังคับกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น
บริษัท มีนโยบายคิดค่าสวัสดิการให้กับพนักงานทุกคนและทุกตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นพนักงานทดลองงานพนักงานรายวันหรือพนักงานรายเดือนที่ยังคงสภาพเป็นพนักงานของบริษัท ณ วันที่ 31 สิงหาคม ของทุกปีเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงาน และเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรื่องสวัสดิการต่างๆ
เช่น งานกีฬาสี การจัดงานเลี้ยงเทศกาลปีใหม่ ฯลฯ และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานโดยตรง ในอัตราคนละ 3,000 บาท โดยบริษัท จะนำเงินทั้งหมดเข้าบัญชี “คณะกรรมการสวัสดิการ” ซึ่งแยกออกจากบัญชีของบริษัท มีคณะกรรมการ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาจากลูกจ้างในบริษัท ตามมาตรา 96
แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เป็นผู้ดูแลบัญชีสวัสดิการพนักงานดังกล่าว และเป็นผู้ควบคุมเรื่องการเบิกจ่าย มีการทำบัญชีเก็บไว้เป็นหลักฐาน
เช่นนี้เงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นประโยชน์เพิ่มอันถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และเข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)
ซึ่งพนักงานผู้ได้รับสวัสดิการดังกล่าวต้องนำประโยชน์ที่ได้รับมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่สวัสดิการจัดเลี้ยงในเทศกาลปีใหม่ถือเป็นเงินได้ ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา42(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทสามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/9276 ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548)
กรณีบริษัท จ่ายค่าศึกษาอบรม ค่าพาหนะเดินทาง และค่าที่พักให้แก่นาย พ.ในขณะที่นาย พ.มิได้เป็นกรรมการหรือพนักงานของบริษัท ถือเป็นการให้เนื่องจากผู้รับไม่มีหน้าที่หรือความผูกพันในทางธุรกิจของบริษัท โดยตรงดังนั้นรายจ่ายดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว
การให้โดยเสน่หา และมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา65 ตรี (3) และมาตรา 65 ตรี(13) แห่งประมวลรัษฎากร(หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/1924 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2549)
กรณีบริษัท ได้จัดสวัสดิการให้แก่พนักงานเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลโดยระเบียบของบริษัท กำหนดวงเงินกรณีเจ็บป่วยทั่วไปของพนักงานทุกระดับไว้ไม่เกินคนละ 40,000 บาทต่อปี แต่ปรากฏว่า ในบางกรณีค่ารักษามีจำนวนเกิน 40,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบของบริษัท แม้จะมีเหตุผลว่าพนักงานผู้นั้น เป็นผู้ที่ทำงานให้กับบริษัท มาเป็นเวลานาน และเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในการปฏิบัติงานของบริษัท เป็นอย่างมากก็ตามเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกิน 40,000 บาท ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัว และมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ
บริษัท จึงไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
อย่างไรก็ตามค่ารักษาพยาบาลที่พนักงานได้รับจากบริษัท เข้าลักษณะเป็นเงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้หรือจ่ายแทนลูกจ้าง
ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(4)(ก) แห่งกฎกระทรวง
ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0706/10504 ลงวันที่ 16 ธ.ค.2548)
กล่าวโดยสรุปรายจ่ายค่าสวัสดิการหากเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กำหนดไว้เป็นการทั่วไปที่มิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติย่อมถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานสำหรับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากรแต่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ค่าสวัสดิการที่พนักงานได้รับนั้นถือเป็นประโยชน์เพิ่มที่เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร
ขอบคุณบทความดีดีจาก : กรุงเทพธุรกิจ คอลัมภ์ไขปัญหาภาษี วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2549
แนะนำบทความ การป้องกัน โควิด-19