คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหม ที่กำลัง หมดไฟการทำงาน
สำรวจตัวเองได้ง่ายๆ ว่า คุณมีอาการเหน็ด เหนื่อย อ่อนล้าทั้งกายและใจ ไม่อยากทำงานเดิมที่ทำอยู่อีกต่อไป แม้ก่อนหน้านั้นจะเคยทำได้ดี เคยทุ่มเทให้ อย่างเต็มที่ก็ตาม แต่มาถึงตอนนี้กลับรู้สึกท้อแท้ รู้สึกว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดนั้นมันไม่เห็นผล หรือไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังเอาไว้ ก็เลยเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอีกต่อไป แถมยังรู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โมโหง่าย ก้าวร้าวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ชีวิตไม่มี ความสุขทั้งที่ทำงานและที่บ้านด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ ไฟของคุณกำลังมอดแน่ๆ
ภาวะหมดไฟในการทำงาน มักเกิดขึ้นเพราะมีความเครียดในการทำงานมากเกินไป อาจจะเป็นเพราะทำงานหนักเกินไป ทุ่มเทให้กับงานมากเกินไป หรือคาดหวังกับผลงานมากเกินไป หรือมีปัญหาที่ทำให้การทำงานติดขัดไปหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแก้ไขและควบคุมไม่ได้ จึงรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว พาลโกรธตัวเอง โกรธผู้ร่วมงาน โกรธที่ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม และรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะทำงานอย่างเดิมต่อไปได้อีกแล้ว
ภาวะหมดไฟในการทำงานไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่จะค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย การป้องกันจึงต้องทำแต่เนิ่นๆ โดยการผ่อนคลายความเครียดเป็นประจำทุกวัน โดยการทำกิจกรรมที่รักที่ชอบ เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา สังสรรค์กับเพื่อนฝูง ทำงานอดิเรก พูดคุยปรึกษาปัญหาหนักใจกับ คนใกล้ชิด ทำบุญทำกุศล หรือฝึกสงบจิตใจด้วยการทำสมาธิ เป็นต้น
แต่ถ้าขณะนี้คุณอยู่ในภาวะหมดไฟแล้ว ทางออกก็คือคุณจะต้องทบทวนตัวเองว่า คุณต้องการอะไรจากการทำงานกันแน่ คุณอยากเป็นอะไรในอนาคต และงานที่ทำอยู่นี้จะสนองความต้องการของคุณได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ควรจะทำอย่างไรต่อไป เช่น ลาหยุดงานสักพักเพื่อคิดให้รอบคอบ ขอย้ายงานไปทำในแผนกใหม่ ลาออกจากงานไปหางานใหม่ หรือจะริเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น
นอกจากนี้ คุณควรจัดการกับอารมณ์ที่แปรปรวนของคุณ ด้วยการควบคุมตัวเอง ระมัดระวังการแสดงออก คิดก่อนทำ อย่าทำอะไรให้ใครเดือดร้อนและตัวคุณเองก็ต้องเสียใจภายหลัง เพราะจะทำ ให้ปัญหาบานปลายกันไปใหญ่
มีปัญหากับผู้ร่วมงาน?
การมีปัญหากับผู้ร่วมงาน ย่อมทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน เป็นเป็นต้นทางอีกอย่างหนึ่งของอาการ “หมดไฟ” จึงควรเร่งแก้ไข ดังนี้
ก่อนอื่น…คงต้องพิจารณาดูว่า ผู้ร่วมงานที่คุณมีปัญหาด้วยนั้น เขามีปัญหากับคนอื่นๆ ด้วยหรือเปล่า ถ้าเขาคนนั้นมีปัญหากับคนอื่นๆ ด้วย นั่นแสดงว่าปัญหาอยู่ที่ตัวเขา ซึ่งคงแก้ยาก คงต้องยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น และปฏิบัติต่อเขาเหมือนกับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ หรืออย่างที่คนอื่นๆ ปฏิบัติต่อเขา แต่ถ้าเขาคนนั้นมีปัญหากับคุณคนเดียว ก็อาจจะต้องหาโอกาสพูดคุยปรับความเข้าใจกัน หรือให้หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่อาวุโสช่วยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยปัญหาให้ การได้พูดจากันจะช่วยให้เข้าใจ เหตุผลและความรู้สึกของกันและกัน ทำให้สามารถลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้
ถ้าผู้ร่วมงานละเมิดสิทธิของคุณ ข่มเหงรังแกคุณ หรือปฏิบัติต่อคุณอย่างไม่ถูกต้อง คุณก็ควรร้องเรียนตามกฎระเบียบของหน่วยงาน หรือถ้าเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพของชีวิต และทรัพย์สินของคุณก็อาจจะต้องแจ้งตำรวจ หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าถูกล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากจะร้องเรียนผู้บังคับบัญชา หรือแจ้งความดำเนินคดีแล้ว ยังสามารถขอความช่วยเหลือ จากองค์กรที่ช่วยเหลือสตรี เช่น มูลนิธิผู้หญิง หรือมูลนิธิเพื่อนหญิงได้ด้วย เป็นต้น
แต่ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นแค่ปัญหาจุกจิกกวนใจ ก็ควรแก้ไขที่ตัวคุณเอง ด้วยการพูดคุย ปรับทุกข์กับคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนที่อยู่ต่างสำนักงานกัน เป็นต้น นอกจากจะช่วยระบายความเครียดในใจแล้ว คุณอาจได้รับรู้ว่าเพื่อนของคุณก็มีปัญหาไม่ต่างไปจากคุณเหมือนกัน และในเมื่อเขาทนได้ คุณก็น่าจะทนได้ พยายามนึกถึงงานไว้ให้มาก ถ้าคุณชอบงานที่ทำอยู่ แม้จะมีปัญหากับผู้ร่วมงานบ้าง ก็ถือเสียว่าเป็นการเพิ่มรสชาติให้ชีวิต อย่าให้ปัญหาเล็กน้อยมาทำลายงานที่คุณชอบเลย
เกิดความเครียดในการทำงาน?
การทำงานเป็นสาเหตุให้คนเราเกิดความเครียดได้เสมอไม่มากก็น้อย และเมื่อเกิดความเครียดแล้ว แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาแตกต่างกันออกไป บางคนอาจปวดศีรษะ ไมเกรนกำเริบ บางคนท้อง อืดเฟ้อ บางคนหงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย บางคนถอนผม บางคนกัดหรือฉีกเล็บ บางคนนั่งเขย่าขาโดยไม่รู้ ตัว เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนให้คุณรีบผ่อนคลายความเครียดได้แล้ว ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. คงต้องออกกำลังกายเพื่อระบายฮอร์โมนแห่งความเครียดออกไปให้หมด จะเป็นการออกกำลังกายระหว่างการทำงาน เช่น การเดินขึ้นลงบันได หรือจะเป็นการเล่นกีฬา หรือทำงานบ้านในตอนเย็นหลังเลิกงาน หรือในวันหยุดก็ได้ การออกกำลังกายจนได้เหงื่อจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่ง ฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา ช่วยให้ร่างกายและจิตใจสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
2. ต้องพักผ่อนให้พอ ไม่จำเป็นอย่าเอางานกลับไปทำที่บ้าน ต้องรู้จักบริหารเวลา เพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อนส่วนตัวและมีเวลาให้ครอบครัวด้วย อย่าลืมว่าเครื่องจักรยังต้องมีเวลาหยุดพักและซ่อมบำรุง คุณเองก็เช่นกัน ต้องมีเวลาพักผ่อนบ้าง เพื่อจะได้มีพลังสำหรับการทำงานในวันต่อไป
3. พูดคุยปรึกษาปัญหาที่คุณหนักใจกับคนใกล้ชิด แม้บางครั้งเขาอาจช่วยคุณแก้ปัญหาไม่ได้ แต่การได้พูดสิ่งที่อัดอั้นในใจออกไป และได้คำปลอบประโลมกลับมา คุณจะรู้สึกดีขึ้น สบายใจขึ้น และเมื่อใจสบาย สมองปลอดโปร่ง ก็อาจคิดแก้ปัญหาได้ในเวลาต่อมา
4. รู้จักปรับเปลี่ยนความคิด อย่าเอาแต่วิตกกังวลให้มากเกินไป ลองคิดใน หลายๆ แง่มุม คิดในสิ่งดีๆ คิดอย่างมีความหวังบ้าง และอย่าคิดหมกมุ่นแต่ปัญหาของตัวเอง คิดถึงคนอื่นบ้าง ยังมีคนลำบากกว่าคุณอีกมาก จะได้มีกำลังใจต่อสู้ปัญหาต่อไป
5. ฝึกเทคนิคคลายเครียด เช่น การหายใจเข้าลึกๆ ให้ท้องพองออก และหายใจออกช้าๆ ให้ท้องแฟบลง จะช่วยชะลอความโกรธ คลายความกังวล ลดความกลัว และความตื่นเต้นลงได้ นอกจากนี้ควรฝึกสมาธิเพื่อสงบจิตใจ โดยมีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก จะช่วยคลายเครียดได้เป็นอย่างดี
เลือกงานให้เหมาะกับตนเอง (ดีที่สุด)
การที่จะรู้ได้ว่างานแบบไหนเหมาะสมกับคุณนั้น ต้องพิจารณาที่ความชอบและความถนัดของตัวคุณเองเป็นหลัก ซึ่งงานนั้นอาจไม่จำเป็นต้องตรงกับสาขาวิชาที่คุณเรียนจบมาก็ได้ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามความใฝ่ฝันในวัยเด็กของคุณ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามความปรารถนาหรือคำแนะนำของคุณพ่อคุณแม่ หรือไม่จำเป็นต้องเป็นอาชีพที่บรรพบุรุษของคุณทำสืบทอดกันมาก็ได้
งานที่เหมาะกับคุณ คือ งานที่คุณถนัด สามารถทำได้ดี เวลาทำจะรู้สึกมีความสุข เพลิดเพลิน ทำได้นานโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือเหน็ดเหนื่อย และมีความพึงพอใจกับผลงานที่ได้ออกมาด้วย
การจะรู้ว่างานชนิดใดเหมาะกับคุณ คงต้องสังเกตตัวเองบ่อยๆ ว่าชอบอะไร ถนัดทางไหน จากนั้นก็ต้องลองทำดูจริงๆ เพื่อดูว่างานนั้นเหมาะกับคุณหรือไม่ เพราะบางครั้งคุณอาจคิดว่าคุณถนัดทางนั้น แต่พอทำเข้าจริงคุณอาจไม่ชอบก็ได้ เช่น คุณอาจเก่งทางด้านภาษาและชอบงานบริการ จึงเลือกทำงานเป็นแอร์โฮสเตส แต่พอทำเข้าจริง ต้องเดินทางบ่อยๆ ไม่ค่อยได้อยู่กับครอบครัว คุณอาจทนทำได้ไม่นาน อาจต้องเปลี่ยนไปทำงานอื่น เช่น ไปเป็นประชาสัมพันธ์โรงแรม หรือไปเป็นเลขานุการ เป็นต้น หรือบางคนเรียนมาทางแพทย์ พยาบาล แต่ไม่ชอบทำงานกับผู้ป่วย ก็อาจเปลี่ยนเข็มไปเป็นอาจารย์หรือนักวิจัย เป็นต้น
บางคนอาจโชคดีที่ได้งานแรกก็ตรงกับความชอบและความถนัดของตนเอง แต่หลายคนไม่โชคดีอย่างนั้น คือ ถึงแม้จะได้งานที่ตรงกับที่เรียนมา แต่ก็อาจไม่ชอบ อยากเปลี่ยนงานใหม่ แต่ถ้ายังหางานใหม่ไม่ได้ก็น่าจะอดทนทำไปก่อน ระหว่างนี้ก็พยายามปรับตัวเข้าหางาน ศึกษางานให้มากขึ้น ฝึกหัดให้เชี่ยวชาญ นึกถึงส่วนดีของงานที่ทำอยู่ให้มากเข้าไว้ เช่น งานนี้มีประโยชน์ได้ช่วยเหลือประชาชน งานนี้ดีตรงที่มีเพื่อนเยอะ และเจ้านายก็ดี งานนี้ได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ งานนี้มีโอกาสก้าวหน้าสูง หรืองานนี้ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ เป็นต้น
ขอบคุณบทความดีดีโดย : admin(Webmaster@inglife.in.th) ที่มา : www.story2you.com
แนะนำบทความ วางแผนธุรกิจก่อนทำธุรกิจ
คลิกดู โรงพิมพ์ JR