วางแผนเพื่อการเกษียณ
การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุงานเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะคนเรามีอายุยืนขึ้น และปัจจุบันลูกไม่สามารถเลี้ยงดูเราได้ดีเท่าสมัยก่อน เพราะลูกๆ จะเอาตัวให้รอดยังยาก คงไม่สามารถที่จะดูแลพ่อแม่หลังเกษียณได้แน่นอน และบางคนก็ไม่มีลูก จึงต้องวางแผนพึ่งตัวเองค่ะ
ทำไมต้องวางแผนเพื่อการเกษียณ การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุงานนั้นไม่ใช่เพียงเฉพาะให้เราพอมีอาหารรับประทาน ดำรงชีวิตอยู่ได้เท่านั้น แต่เวลาวางแผนยังต้องตั้งเป้าหมายให้สามารถรักษาระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ผู้อยู่ อยู่ได้อย่างสบาย และมีมาตรฐานชีวิตในระดับที่ต้องการได้ ซึ่งระดับความต้องการของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน แผนการเกษียณจึงต้องเป็นแผนเฉพาะของแต่ละบุคคล
เห็นเพื่อนเก็บเงินเพื่อการเกษียณเดือนละ 1,000 บาทตั้งแต่อายุ 25 ปี เมื่อเริ่มทำงาน เราก็เก็บบ้างในจำนวนเท่ากัน แต่เรามาเริ่มเก็บเมื่ออายุ 40 ปี ก็จะทำให้เรามีเงินก้อนยามเกษียณอายุแตกต่างกันกับเพื่อนค่ะ เพราะเพื่อนอาจจะมีเงิน 899,815 บาท ในขณะที่เรามีเพียง 405,804 บาท ถ้าลงทุนแล้ว ได้ผลตอบแทนปีละ 4% หรือถ้าลงทุนแล้ว ได้ผลตอบแทน 6% ต่อปี เพื่อนจะมีเงิน 1.37 ล้านบาท ในขณะที่เรามี 453,438 บาท
นอกจากนี้ ระดับการใช้ชีวิตของแต่ละคน ก็มีมาตรฐานต่างกัน หลายคนอาจจะใช้รถสาธารณะได้ แต่บางคนอาจจะต้องมีคนขับรถให้นั่ง ดังนั้นความต้องการใช้เงินหลังเกษียณก็จะแตกต่างกัน
การวางแผนเพื่อการเกษียณ จะเริ่มจากการประมาณว่า เราคาดว่าจะต้องการใช้เงินต่อเดือนเท่าใด เมื่อเราเกษียณอายุงาน เพื่อความง่าย เราก็จะใช้ค่าเงินของปัจจุบันเป็นจุดเริ่มต้นในการคิด หมายถึง ถ้าข้าวของราคาเท่าปัจจุบัน ท่านจะใช้เงินเดือนละเท่าไร หากเห็นว่าใช้เดือนละ 20,000 บาทก็น่าจะพอ ก็ตั้งเป้าว่า อยากจะได้เงินใช้เดือนละ 20,000 บาท แต่บางคนอาจจะต้องใช้ 50,000 บาทต่อเดือน ขอใช้ 20,000 บาทเป็นตัวอย่างก็แล้วกันนะคะ หากท่านจะใช้ 50,000 บาท ท่านก็สามารถเอา 2.5 คูณเข้าไปได้
หากท่านนึกไม่ออกว่าจะใช้ตัวเลขอะไร ตำราฝรั่งเขาว่า เราจะใช้เงินหลังเกษียณประมาณ 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ แต่คิดเป็นรายได้อาจจะยาก เพราะไหนจะต้องหักภาษีออกก่อน เพื่อให้เป็นรายได้สุทธิ ไหนจะต้องหักเงินออม ดิฉันแนะนำให้คิดง่ายๆ เป็น 50-70% ของเงินที่ใช้ก่อนเกษียณก็แล้วกันค่ะ เพราะค่าใช้จ่ายหลายอย่างจะลดลง เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่าเดินทาง แต่ค่าใช้จ่ายเรื่องนันทนาการและสุขภาพจะเพิ่มขึ้น หรือหากท่านอายุ 40 ปีขึ้นไป ท่านจะใช้วิธีประมาณการ จากการใช้จ่ายในปัจจุบันก็ได้ค่ะ ว่าหากเราเกษียณแล้ว เราน่าจะใช้เงินประมาณเท่าไร
ทีนี้เนื่องจากเรามีอัตราเงินเฟ้อเงิน 20,000 บาท ณ ปัจจุบัน ที่เราอายุ 40 ปี ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ 3% พอถึงเวลาที่เราเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้า ก็จะเท่ากับ 36,415 บาท แปลว่าท่านต้องการใช้เงินเดือนละประมาณ 36,415 บาท ซึ่งเป็นค่าของเงิน ณ วันที่ท่านเกษียณค่ะ
ท่านต้องคาดการณ์ว่า ท่านจะใช้ชีวิตอยู่หลังเกษียณไปอีกกี่ปี ในกรณีที่ท่านจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี ดิฉันแนะนำให้ใช้ 20-25 ปี (คือประมาณว่าท่านจะมีอายุขัยถึง 80-85 ปี) แต่ในกรณีที่ครอบครัวของท่านมีประวัติอายุยืน ท่านอาจจะต้องใช้ ตัวเลข อยู่ต่อหลังเกษียณถึง 30-35 ปี (คือประมาณว่าท่านจะมีอายุถึง 90-95 ปี) ตัวเลขนี้สำคัญ เพราะเราต้องตั้งเป้าหมายว่า ท่านจะต้องออมเงินเท่าไร จึงจะพอใช้หลังเกษียณค่ะ ท่านที่วางแผนจะเกษียณก่อนอายุ 60 ปี ก็ต้องบวกจำนวนปี ที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณเพิ่มขึ้นนะคะ
หลังจากนั้น ท่านต้องนำเงินที่ท่านจะใช้ ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตหลังเกษียณมาคำนวณเป็นค่าเงิน ณ วันเกษียณ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% ต่อปี เงิน 36,415 บาท (เทียบเท่าค่าเงินปัจจุบัน 20,000 บาท) ต่อเดือนที่ท่านต้องใช้หลังเกษียณเป็นเวลา 300 เดือน (25 ปี) จะเท่ากับ 7.68 ล้านบาท ณ วันที่ท่านเกษียณ (หากท่านจะใช้เดือนละ 50,000 บาท ท่านต้องมีเงิน 19.2 ล้านบาท ณ วันที่ท่านเกษียณ)
ตอนนี้ก็ถึงขั้นตอนของการวางแผนแล้วค่ะ ว่าถ้าต้องการเงิน 7.68 ล้านบาท ณ วันที่เกษียณ คืออีก 20 ปีข้างหน้า ท่านจะเก็บออมและลงทุนอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมาย
ถ้าเงินไม่ได้งอกเงย และไม่มีอัตราเงินเฟ้อ หรือถ้าท่านได้ผลตอบแทนจากการออมเท่ากับอัตราเงินเฟ้อพอดี ท่านก็สามารถเอาจำนวนเดือน คือ 240 เดือนไปหาร ก็จะได้ตัวเลขว่า ท่านต้องเก็บเงินให้ได้เดือนละ 31,996 บาท เป็นเวลา 20 ปีค่ะ แต่โลกนี้มีอัตราเงินเฟ้อ ที่อาจจะไม่เท่ากับอัตราผลตอบแทนที่ท่านสามารถนำเงินออมของท่านไปลงทุน ซึ่งหากท่านลงทุนได้ผลตอบแทนมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ท่านก็สามารถออมต่อเดือนน้อยลงกว่านี้ได้
อย่าเพิ่งท้อใจค่ะ ท่านยังมีเงินที่ท่านเก็บออมไว้ เพื่อการนี้ไม่มากก็น้อย โดยที่ท่านอาจจะไม่รู้ตัว
แหล่งแรกคือ กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ จะจ่ายเงินให้ท่านเมื่อท่านอายุครบ 55 ปี และจ่ายเงินสมทบมาเท่ากับ 15 ปี หรือ 180 เดือนท่านมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ในอัตรา 20% ของเงินเดือนที่จ่ายสมทบเข้าประกันสังคมเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (อย่าลืมว่าอัตราเงินเดือนที่ใช้สูงสุดคือ 15,000 บาทนะคะ) ซึ่งก็คือจำนวน 3,000 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ที่มีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป และจ่ายเงินสมทบมาครบ 15 ปี
ส่วนท่านที่จ่ายเงินสมทบเกิน 15 ปี ก็จะมีโบนัสพิเศษ ในอัตราปีละ 1.5% ของจำนวนปีในส่วนที่เกิน 5 ปี เช่นท่านจ่ายเงินเข้าประกันสังคม ตั้งแต่ตอนอายุ 30 ปี หากเกษียณตอนอายุ 60 ปี ก็เท่ากับจ่ายมาแล้ว 30 ปี เกิน 15 ปี มา 15 ปี ก็จะได้โบนัสพิเศษ จำนวน 15 ปี คูณด้วย 1.5% ของอัตราเงินเดือน คือ 15,000 บาท ได้เท่ากับ 3,375 บาทต่อเดือน รวมแล้วก็ได้ 6,375 บาทต่อเดือนแล้วค่ะ เศษของปีที่เป็นเดือนก็คิดด้วยนะคะ ในที่นี้ดิฉันต้องการให้ง่ายเข้าไว้ จึงคิดให้เต็มปีพอดี (แล้วก็จริงๆ แล้วเขาจะเริ่มจ่ายให้ตั้งแต่ท่านอายุ 55 ปี ก่อนเกษียณท่านก็จะได้รับมาแล้ว 5 ปี หากท่านนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนด้วยอัตราผลตอบแทนสุทธิ 4% ใน 5 ปีก็จะเป็นเงิน 422,656 บาทก็จะลดภาระไปได้อีก
แต่เงินของสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเท่ากันทุกเดือน ไม่ได้ปรับค่าเงินเฟ้อให้ ท่านจึงต้องหาค่าปัจจุบัน ณ วันที่ท่านเกษียณ ของเงินก้อนรายเดือนจำนวนเดือนละ 6,375 บาท เป็นเวลา 25 ปี ซึ่งหากคิดลดด้วยอัตราเงินเฟ้อ 3% ท่านจะได้ตัวเลข 1,344,337 บาท ณ วันที่ท่านเกษียณค่ะ
ตอนนี้ก็หาได้ 1,766,993 บาทแล้วนะคะ ยังเหลืออีก 5.91 ล้านบาท สัปดาห์หน้ามาดูกันค่ะว่า ท่านยังมีเงินส่วนไหนอีกที่เตรียมไว้ใช้ เพื่อการเกษียณอายุงาน และหากคำนวณดูแล้ว เก็บอย่างไรก็ไม่ได้ ท่านจะทำอย่างไร
ขอบคุณบทความดีดีโดย : คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552
คลิกดู 12วิธัใช้จ่ายอย่างฉลาด
คลิกดู โรงพิมพ์JR