วัดระฆังโฆสิตาราม
วัด t

วัดระฆังโฆสิตาราม

81 / 100

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หลวงพ่อโต

วัดระฆัง

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (วัดระฆัง) เป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง

ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับท่าช้างวังหลวง เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ และพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้สังคยาพระไตรปิฏกที่นี่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัด ประชาชนจึงเรียกว่า วัดระฆังตั้งแต่นั้นมา แต่ตัวระฆังซึ่งมีเสียงดี รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สิ่งสำคัญในวัดได้แก่ ตำหนักทอง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและสมเด็จพระสงฆราช (ศรี)

หอไตร

หรือในอีกชื่อเรียกว่า “ตำหนักจันทน์” กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ เดิมเคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งทรงรับราชการเป็นที่พระราชวรินทร์เจ้ากรมพระตำรวจนอกฝ่ายขวา ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงรื้อไปถวายวัดบางหว้าใหญ่ ในคราวเสด็จเป็นแม่ทัพไปตีเมืองโคราช

เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์เพื่อใช้เป็นหอพระไตรปิฎก โดยขุดพื้นที่บริเวณที่พบระฆังออกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ก่ออิฐกั้นเป็นสระแล้วรื้อพระตำหนักจากที่เดิมมาปลูกลงในสระ เมื่อดำเนินการเสด็จโปรดให้มีการสมโภชและปลูกต้นจันทน์ไว้ ๘ ต้น อันเป็นเหตุให้เรียกหอไตรนี้ว่า “ตำหนักจันทน์”

สถาปัตยกรรมไทย

ในวัดที่มีชื่อเสียงเลื่อลือว่างามยิ่ง คือ หอพระไตรปิฏก เดิมอยู่กลางสระที่ขุดขึ้นด้านหลังพระอุโบสถ สร้างเป็นเรือนแฝด ๓ หลัง ด้วยไม้ที่รื้อพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งยังทรงรับราชกาลอยู่กรุงธนบุรี ฝาผนังด้านนอกทาสีดินแดง ด้านในเขียนภาพฝีมืออาจารย์นาค เป็นภาพแสดงวิถีชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น บานประตูตกแต่งด้วยการเขียนลายรดน้ำและแกะสลักอย่างงดงาม นอกจากนั้นยังมี ตู้พระไตรปิฏก ลายรดน้ำขนาดใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ในห้องด้านเหนือและห้องด้านใต้

สิ่งที่ไม่ควรพลาด

การไหว้พระประธานในพระอุโบสถ ชมความงามของภาพจิตรกรรมฝาผนังภายใน, การกราบไหว้ปิดทองรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่องบทสวดชินบัญชรอันเป็นสิริมงคล, เยี่ยมชมหอไตร หรือตำหนักจันทน์ โบราณสถานที่สวยงาม ทรงคุณค่า, การทำบุญปล่อยสัตว์น้ำที่ท่าน้ำของวัด

ขอบคุณบทความดีดี โดย : dhammathai,
ภาพโดย : donmueangairportthai, manager


สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)


ห้ามพายุร้าย
อิทธิฤทธิ์หยุดมัจจุราช!! “สมเด็จโต วัดระฆัง”ใช้พัดใบตาลโบกแหวกลมหน้าเรือ แหวกพายุร้ายบังเรือมิด จนรอดพ้นอย่างง่ายดาย!! สุดแสนอัศจรรย์ยิ่ง!!

ครั้งหนึ่ง สมโภชพระราชวังบนเขามไหสวรรค์ เมืองเพชรบุรี สังฆการีวางฎีกาท่านไปเรือญวน 4แจว ออกทางปากน้ำบ้านแหลม เวลานั้นทะเลเป็นบ้า คลื่นลมจัดมาก ชาวบ้านอ่าวบ้านแหลมช่วยกันร้องห้ามว่า เจ้าประคุณอย่าออกไป จะล่มตาย
ท่านตอบไปว่า ไปจ๊ะ ไปจ๊ะ ท่านออกยืนหน้าเก๋ง เอาพัชนีใบตาลโบกแหวกลมหน้าเรือ ลูกคลื่นโตกว่าเรือท่านมาก บังเรือมิด แต่ทางหน้าเรือคลื่นไม่มี ลมก็แหวกทางเท่ากับแจวในลำท้องร่อง น้ำเรียบแต่น้ำข้างๆกระเซ็นบ้าง

เพราะคลื่นเข้าข้างเรือทั้งสองโตเป็นตลิ่งทีเดียว พระธรรมถาวรเล่าว่า เวลานั้นท่านเป็นพระครูปลัดไปกับท่านด้วย ได้เห็นน่าอัศจรรย์ ใจท่านหายๆ ดูไม่รู้จะคิดเกาะเกี่ยวอะไร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านยืนโบกพัดเฉย คนก็แจวเฉยเป็นปกติ จนเข้าปากน้ำเมืองเพชร ท่านจึงเข้าเก๋งเอนกาย ชาวปากอ่าวเมืองเพชรเกรงบารมีสมเด็จท่านมาก ยกมือท่วมๆ หัว สรรเสริญคุณสมบัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

ตลอดจนเจ้าขุนนางที่ตามเสด็จคราวนั้นว่า เจ้าพระคุณสำคัญมาก แจวฝ่าคลื่นลมกลางทะเลมาได้ตลอดปลอดโปร่งปราศจากอุปัทวันตราย

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) (นามเดิม: โต) หรือนามที่นิยมเรียก “สมเด็จโต” “หลวงปู่โต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” เป็นพระภิกษุมหานิกาย เป็นพระมหาเถระรูปสำคัญที่ได้รับความนิยมนับถืออย่างมากในประเทศไทย ท่านเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารในสมัยรัชกาลที่ 4-5

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) นับเป็นพระเกจิเถราจารย์ผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงสามัญชน และนอกจากจริยาวัตด้านความสมถะอันโดดเด่นของท่านแล้ว ท่านยังทรงคุณทางด้านวิชชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุมงคล “พระสมเด็จ” ที่ท่านได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา ได้ถูกจัดเข้าในพระเครื่องเบญจภาคี หรือสุดยอดของพระเครื่องวัตถุมงคล 1 ใน 5 ของประเทศไทย และมีราคาซื้อขายในปัจจุบันต่อองค์เป็นราคานับล้านบาท ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรและคุณวิเศษอัศจรรย์ของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่า ท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย และมีผู้นับถือจำนวนมากในปัจจุบัน

ชาติภูมิ

รูปหล่อของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ประดิษฐานที่วัดไก่จ้น อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวกันว่าท่านเกิดในเรือของมารดาซึ่งจอดเทียบท่าอยู่หน้าวัดแห่งนี้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้แล้ว 7 ปี เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1150 เวลาพระบิณฑบาต (ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331) ณ บ้านไก่จ้น (บ้านท่าหลวง) อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มารดาบิดาของท่านเป็นใครไม่ทราบแน่ชัด มีผู้กล่าวประวัติของท่านในส่วนนี้แตกต่างกันไปหลายฉบับ เช่น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร หรือฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล (เฮง อิฏฐาจาโร) กล่าวว่า มารดาของท่านชื่อเกตุ คนท่าอิฐ อำเภอบางโพ อย่างไรก็ดีมารดาของท่านนั้นเป็นชาวเมืองเหนือ (คำเรียกในสมัยอยุธยา)เพราะทุกแหล่งอ้างอิงกล่าวตรงกันว่ามารดาของท่านเป็นชาวเมืองเหนือแต่ได้ลงมาทำมาหากินแถบภาคกลางในช่วงหลัง

สำหรับบิดาของท่านนั้น ฉบับของพระยาทิพโกษา กล่าวว่าท่านเป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี ส่วนฉบับของพระครูกัลยาณานุกูล และฉบับของตรียัมปวายกล่าวว่าท่านเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และแม้ในฉบับของตรียัมปวายจะมีข้อสันนิษฐานเพื่อยืนยันหลายข้อ แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติทั้งสองฉบับกล่าวตรงกันเพียงว่า ข้อสันนิษฐานว่าด้วยบิดาของท่านนั้นเป็นเพียงเรื่องเล่าซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นกล่าวและเชื่อกันโดยทั่วไป

เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้ว ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2343 ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 จีงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีฉายานามในพุทธศาสนาว่า “พฺรหฺมรํสี” เนื่องจากเป็นนาคหลวงจึงเรียกว่า “พระมหาโต” มานับแต่นั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับพระมหาโตไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์

จริยาวัตร

ท่านมีอุปนิสัยทำสิ่งใดตามความพอใจของตน ไม่ถือเอาความนิยมขอผู้อื่นเป็นหลัก[15] และไม่ปรารถนายศศักดิ์หรือลาภสักการะใด ๆ แม้ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ก็ไม่ยอมเข้าสอบเปรียญธรรม ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะ แต่ท่านไม่ยอมรับ จึงคงเป็นพระมหาโตมาตลอดรัชกาล

ต่อมากล่าวกันว่า พระมหาโตได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆ กัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ที่วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น ซึ่งปูชนียสถานทุกแห่งที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของท่านอยู่เสมอ การจะสร้างปูชนียสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ล้วนแต่ต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างจึงจะทำได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความศรัทธาและบารมีของท่าน ซึ่งเป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนในย่านที่ท่านได้ธุดงค์ผ่านไปอย่างชัดเจน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดปรานพระมหาโตเป็นอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2395 พระองค์จึงได้พระราชทานสมณศักดิ์พระมหาโตเป็นครั้งแรก เป็นพระราชาคณะที่ “พระธรรมกิติ” และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี โดยปกติแล้วพระมหาโตมักพยายามหลีกเลี่ยงการรับพระราชทานสมณศักดิ์ แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้ท่านต้องยอมรับพระราชทานสมณศักดิ์ในที่สุด อีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2397) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ “พระเทพกระวี” หลังจากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2407) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า

สมเด็จพระพุฒาจารย์ อเนกสถานปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทรพรตจาริก อรัญญิกคณิศร สมณนิกรมหาปรินายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ สถิต ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ

สมณศักดิ์ดังกล่าวนี้นับเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงสุดและเป็นชั้นสุดท้ายที่ท่านได้รับตราบจนกระทั่งถึงวันมรณภาพ คนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า “สมเด็จโต” หรือ “สมเด็จวัดระฆัง” ส่วนคนในยุคร่วมสมัยกับท่านเรียกท่านว่า “ขรัวโต”

ปัจฉิมวัย

ราวปี พ.ศ. 2410 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ พระพุทธรูปหลวงพ่อโต (พระศรีอริยเมตไตรย) ที่วัดอินทรวิหาร (ในสมัยนั้นเรียกว่า วัดบางขุนพรหมใน) ทว่าการก่อสร้างก็ยังไม่ทันสำเร็จ โดยขณะนั้นก่อองค์พระได้ถึงเพียงระดับพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ได้มรณภาพบนศาลาเก่าวัดบางขุนพรหมใน ณ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สิริรวมอายุได้ 84 ปี อยู่ในสมณเพศ 64 พรรษา เป็นเจ้าอาวาสครองวัดระฆังโฆสิตารามได้ 20 ปี

ขอขอบคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูล

ศิษย์มีครู
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เรียบเรียงโดย ศักดิ์ศรี บุญรังศรี

แนะนำ LINK    วัดอินทาราม

โรงพิมพ์ JR

โรงพิมพ์ เจอาร์http://jrprinting.net


+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0