ปิดบัญชีอย่างไร จึงปลอดภัยจากภาษี
แม้ว่าเศรษฐกิจ จะอยู่ในช่วงขาลง แต่ใช่ว่าทุก sector จะห่อเหี่ยวซะเมื่อไร…ไอ้ที่บูมๆ เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง หรือ เจ้าเงาะซ่อนรูป ก็ต้องมีบ้างแหละ!
ปัญหาการปิดงบการเงิน มีแง่มุมทางภาษี ที่ต้องระมัดระวังหลายสถาน ซึ่งโดยโครงสร้าง ย่อมครอบคลุม ถึงภาษีอากร ทุกประเภท (ภาษีนิติบุคคล VAT ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์) ซึ่งภาระภาษี เหล่านี้ ล้วนมีส่วนสัมพันธ์กัน และเกี่ยวโยง กับการบันทึกบัญชี และการปิดงบทางบัญชีทั้งสิ้น!
1. ปิดบัญชี…ปิดอย่างไร ปิดทำไม?
งบดุล เป็นงบ แสดงฐานะการเงิน ณ วันสิ้นรอบบัญชีหนึ่งๆ (ปกติคือ 31 ธันวาคมของทุกปี) ว่ากิจการมีเงินสด ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ สินทรัพย์สุทธิ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น (ทุนจดทะเบียน ซึ่งเรียกชำระแล้ว และกำไร(ขาดทุน)สะสม) เป็นเท่าใด
งบกำไรขาดทุน เป็นงบแสดงผล การดำเนินงาน ที่เกิดขึ้นในระหว่าง รอบปีบัญชี ว่ามีรายได้ รายจ่าย และกำไรขาดทุน อย่างไร
ถามว่าทำไมต้องปิดบัญชี? เหตุผลก็คือ เพื่อสรุปฐานะการเงิน และผลการดำเนินงาน ให้ผู้บริหารทราบ เพื่อประกอบ การตัดสินใจ แก้ปัญหา และใช้เป็นข้อมูล ในการวางแผนงาน และการบริหารงาน ในอนาคต นั่นเอง
วิธีการปิดบัญชี ก็คือ การสรุป รายการบัญชีต่างๆ ที่บันทึกไว้ในระหว่างปี เพื่อสรุปผลลัพธ์ เป็นงบกำไร ขาดทุน และงบดุล นั่นเอง
(1) สรุปบัญชีแยกประเภทรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อออกงบกำไรขาดทุน สำหรับปี
(2) ปิดบัญชีกำไรขาดทุน และบัญชีเงินปันผล ไปยังงบกำไรสะสม
(3) คำนวณยอดคงเหลือในบัญชีสินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อออกงบดุล ณ วันสิ้นปี (สมมติเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2551)
(4) สำหรับบัญชีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ต้องยื่นแบบนำส่ง ภายในวันที่ 7 ของเดือนมกราคม ของปีถัดไป) และบัญชีภาษี มูลค่าเพิ่ม ที่ต้องนำส่ง ภายในวันที่ 15 มกราคม ของปีถัดไป และเงิน ประกันสังคมค้างจ่าย (ต้องนำส่งกรมแรงงาน ภายในวันที่ 15 มกราคมของปีถัดไป) ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ต้องสรุปยอด เพื่อรอนำส่งภาษี แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ปัญหาที่นักบัญชีทั้งหลาย มักประสบกันอยู่เสมอ ก็คือ การคำนวณกำไรสุทธิ (taxable profit) เพื่อยื่นแบบ ภาษีเงินได้ นิติบุคคลภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นรอบบัญชี เกี่ยวโยง กับการปิดบัญชี เช่นกันนั้น จะต้องมี การปรับปรุง รายการต่างๆ มากมาย ที่ประมวลรัษฎากร บัญญัติไว้แตกต่าง จากมาตรฐานการบัญชี ตัวอย่างเช่น
(ก) มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติไว้ว่า การคำนวณ รายได้รายจ่าย เพื่อการรัษฎากร จะต้องใช้เกณฑ์สิทธิ ซึ่งเกณฑ์สิทธิ ในความหมาย ของกฎหมาย จะกว้างขวาง และแตกต่าง จากเกณฑ์เงินคงค้าง (Accrual basis) ตามหลักการบัญชี อยู่หลายประการ
ตัวอย่าง 1 บริษัท เถ้าแก่ฮวด จำกัด ได้รับเงินมัดจำ 10% ค่าเฟอร์นิเจอร์ จากนายเบิร์ด เสี่ยใหญ่ เจ้าของค่ายเพลงดัง เป็นเงิน 10,000 บาท
ในการบันทึกบัญชี บริษัทจะไม่รับรู้ รายได้สำหรับเงินมัดจำ 10,000 บาท ดังกล่าว แต่ในการยื่นแบบเสียภาษี เงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) กรณีนี้จะต้องถือเงินมัดจำ เป็นรายได้เพื่อการรัษฎากร
(ข) มาตรา 65 ทวิ (1)-(14) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเงื่อนไข ในการคำนวณกำไรสุทธิ (taxable profit) ไว้แตกต่าง จากหลักการบัญชี หลายประการ อาทิ
การคำนวณค่าเสื่อม ราคารถยนต์นั่ง (Benz E240 ราคา 4 ล้านบาท) จะนำมาตัด ค่าเสื่อมราคา ทางภาษีอากร ได้เพียงไม่เกิน 1 ล้านบาท (ม.65 ทวิ (2))
การตัดจำหน่ายหนี้สูญ จะต้องเป็นไป ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ที่กำหนด ไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 เช่น กรณีมูลหนี้ต่อ รายเกินกว่า 500,000 บาท จะต้องเป็นกรณี ที่คดีความถึงที่สุด และลูกหนี้ ไม่มีเงินชำระหนี้ (ม.65 ทวิ (9)
เงินปันผล ที่บริษัทไทย ได้รับจากบริษัท ที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทย จะนำมาถือ เป็นรายได้เพียง กึ่งหนึ่งเท่านั้น (ม.65 ทวิ (10))
(ค) มาตรา 65 ตรี (1)-(20) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติ 20 กรณีของรายจ่ายต้องห้ามไว้ อาทิ
เงินช่วยงานบวช งานแต่งงาน งานกฐิน และของขวัญปีใหม่ ถือเป็นรายจ่าย ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) เพราะเข้าข่าย รายจ่ายส่วนตัว และให้โดยเสน่หา (ฎีกาที่ 2761/2524)
บริษัทผู้นำเข้าเครื่องกีฬา นำสินค้า เครื่องกีฬาไปแจกให้แก่ นักกีฬาทีมชาติ จะถือเป็น รายจ่าย ส่วนตัวและ เป็นการให้โดยเสน่หา ตามนัยมาตรา 65 ตรี (3) เช่นกัน
ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี สามารถถือเป็นรายจ่าย ทางภาษีอากร ได้ตามนัยมาตรา 65 ตรี (12) ซึ่งจะต่างจากหลักการ บัญชีที่ถือผลขาดทุน สุทธิของปีก่อนๆ อยู่ในงบกำไรสะสม
เงินค่าซื้อวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีใบเสร็จ 43 ฉบับมาแสดง แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่า มีผู้รับเงิน โดยอ้างว่าเลิก กิจการไปแล้ว ย่อมถือเป็นรายจ่าย ที่พิสูจน์ผู้รับ ไม่ได้ ตามนัยมาตรา 65 ตรี (18) (ฎีกาที่ 3594/2534)
นี่เป็นเพียงตัวอย่าง เพียงเล็กน้อย ของข้อผิดพลาด ที่มักมีการตรวจพบ อยู่เสมอ บางประเด็น มีเม็ดเงินไม่สูง ก็คงไม่กระทบ มากมาย แต่ถ้าเป็นประเด็นใหญ่ และมียอดเงิน ที่ผิดพลาด จำนวนมาก บริษัทก็จะต้อง รับผิดชำระภาษีเงินได้ นิติบุคคลเพิ่มเติม พร้อมเบี้ยปรับ 1 เท่า และเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน….ทุนจะหาย กำไรจะหด และน้ำตาจะเช็ดหัวเข่า ก็เพราะเจ้า ค่าปรับนี่แหละคุณ!
2. ข้อผิดพลาดทางภาษี…ป้องกันและแก้ไขอย่างไร?
ภาษิต “วัวหายล้อมคอก” กับ “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ย่อมเกิดขึ้นได้ในวงการอื่น ซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็บอกว่าช่างเถอะให้แก้ตัวใหม่แล้วกัน
แต่สำหรับในวงการภาษีอากร บริษัททั้งหลายจะยอม ให้เกิดข้อผิดพลาดแล้ว ตามล้างตามแก้กัน ไม่ได้เลย เพราะค่าปรับค้ำคออยู่ (แถมยังมีโทษสูงซะด้วย ไม่คุ้มหรอก!)
การสวดมนต์ ไหว้เจ้า บนบานศาลกล่าว คงไม่มีประโยชน์อะไร เคล็ดวิชามีดังนี้ครับ
(1) ต้องเข้าใจประเด็นแห่งภาษีหลักๆ (major tax issues) ของกิจการของเรา เรื่องนี้พูดง่าย แต่ปฏิบัติยาก และจับประเด็นดังกล่าว ได้ยากครับ ตัวอย่างเช่น
กรณีผู้ใช้บริการ (Consignee หรือ Forwarder) จ่ายค่าบริการ เกี่ยวกับการขนส่ง สินค้าขาออก และการขนส่งสินค้าขาเข้า ที่มิได้ระบุไว้ ในบิลออฟเลดิง (Bill of Lading หรือ B/L) ให้กับ สายการเดินเรือไทย หรือ สายการเดินเรือต่างประเทศ ผู้ใช้บริการ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3% (แต่ถ้าระบุ ค่าบริการใน B/L สำหรับการ ขนส่งสินค้าขาออก คงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 1% เท่านั้น)… ดังนั้นวิธีการระบุ รายการในเอกสาร B/L จึงมีผลต่อ อัตราการหักภาษี ณ ที่จ่าย (หนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/0115 ลว.22 ต.ค. 2544)
กิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ จัดโปรแกรมส่งเสริม การขายโดยแถมรถยนต์ Honda Civic 1 คัน ต่อ 1 unit ของบ้านเดี่ยว ที่มีราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป…กรณีจะต้องเสีย VAT สำหรับรถยนต์ ที่แจกแถม และจะต้องเฉลี่ยภาษี ซื้อสำหรับ รายจ่ายร่วม (joint cost) ซึ่งโดยทั่วไป บริษัทผู้ขาย มักไม่ทราบ และปฏิบัติผิดพลาดอยู่เสมอ
(2) ต้องค้นหาแนว คำวินิจฉัยในประเด็นภาษี ให้เกิดข้อยุติว่าในแต่ละทางเลือก หรือแต่ละประเด็นภาษี มีบรรทัดฐาน ในการวินิจฉัย ปัญหาอย่างไร ทั้งนี้เพื่อจะได้ปฏิบัติ ได้ถูกต้องตามแนวทาง ที่กรมสรรพากร กำหนด เช่นค้นคว้า จากคำพิพากษาฎีกา หรือคำวินิจฉัย ภาษีของกรมสรรพากร (private letter ruling) เป็นต้น
(3) ต้องวางแผนภาษีให้ชัดเจน โดยพยายามหลีกเลี่ยง แนวทางที่คลุมเครือ (grey area)
เช่นกรณีผลิตสินค้า ตามคำสั่งจ้าง โดยไม่เคย ผลิตขายสินค้า ทำนองเดียวกัน เป็นปกติธุระนั้น กรมสรรพากร ถือเป็นบริการตามมาตรา 77/1(10) มิใช่การขายสินค้า ตามมาตรา 77/1(8) เป็นต้น…หากมีความไม่ชัดเจน ดังกล่าว ก็จะต้องทำข้อหารือ เพื่อให้เกิด ข้อยุติเสียก่อน
(4) ต้องติดตามและศึกษา การเปลี่ยนแปลง ของกฎหมายภาษี ให้ทันเหตุการณ์อยู่เสมอ
3. ส่งท้าย
อ่านบทความ มาถึงตอนส่งท้ายแล้ว เชื่อว่าท่านผู้อ่าน หลายท่าน ก็ยังคงต้องขมวดคิ้ว และมีปรัศนีย์ในหัวใจว่า “งงงวย และไม่ get หรือยิ่งเง็ง และเกร็งเข้าไปอีก”
ทำนอง “รู้งี้…สู้ไม่รู้ในเนื้อหา และหลับหูหลับตา ยื่นแบบ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา อย่างทุกปี ก็ดูจะสบายใจ กว่ากันเยอะเลย!” นิทานเรื่องนี้ บอกให้รู้ว่า กฎหมายภาษี ของบ้านเรายังต้องมี การคิดใหม่ ทำใหม่ อีกแยะเชียว นะครับ
ขอบคุณบทความดีดีจาก : http://www.nationejobs.com วันที่ 19-11-2001