ธนาคารไม่ใช่เพื่อน
ในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจของไทยกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากต่างล้วนประสบความเดือดร้อน ทั้งรายได้หรือยอดขายที่ลดลง ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และยังไม่เห็นแนวโน้มที่ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายจะลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ ทางเลือกของผู้ประกอบการส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็คือ การติดต่อขอสินเชื่อกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่เมื่อผู้ประกอบการได้ไปติดต่อกับธนาคาร ก็มักพบว่ามีปัญหาหรือได้รับการปฏิเสธ หรือการติดเงื่อนไขต่างๆในการพิจารณาจำนวนมาก จนมีผู้ประกอบการจำนวนมากมักตำหนิธนาคารหรือสถาบันการเงินว่า ชอบที่จะให้เงินกู้แก่คนรวย ให้เงินกู้แก่ธุรกิจที่ไม่เดือดร้อน โดยไม่ยอมให้กู้เงินกับธุรกิจที่เดือดร้อนหรือต้องการเงินกู้จากธนาคารเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่เหมือนในโฆษณาที่บอกว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งคำตำหนิบ่นว่าดังกล่าวผู้เขียนได้รับฟังอยู่บ่อยครั้ง
ดังนั้นการเขียนเรื่อง “ธนาคารไม่ใช่เพื่อน” นี้น่าจะเป็นคำตอบหนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการซึ่งชอบตำหนิธนาคาร สถาบันการเงิน หรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐก็ตาม ว่าการที่ธนาคารไม่ให้ตนเองกู้เงินนั้นมาจากสาเหตุใดกันแน่ โดยเรื่องที่ผู้เขียนมักชอบยกตัวอย่างขึ้นมาในคำตอบนี้ มักเป็นช่วงการบรรยายเกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจที่ผู้เขียนเป็นวิทยากร เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการนำเสนอแผนธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อเสนอต่อธนาคารหรือสถาบันการเงิน โดยผู้เขียนมักจะเลือกที่จะตั้งถามคำถามต่อผู้ประกอบการในการเข้าอบรม โดยเฉพาะถ้าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือเป็นเพื่อนกัน จะเห็นภาพได้ดีเป็นพิเศษ โดยคำถามจะเริ่มต้นดังนี้
“สมมติว่าคุณซึ่งเป็นผู้ประกอบการมีเพื่อน 2 คนซึ่งรักกันมาก โตมาด้วยกัน เรียนมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก สมมติว่าชื่อนาย A และนาย B โดยนาย A มาขอยืมเงินจากคุณ 300,000 บาท โดยมีเหตุผลว่า ธุรกิจของนาย A มีความเจริญเติบโตมาก มียอดสั่งซื้อจากลูกค้ามากเกินกว่าทุนของธุรกิจที่นาย A มีอยู่ นาย A จึงต้องมาขอยืมเงินจากคุณเพื่อใช้ในการซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มการผลิต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อวัตถุดิบ เพื่อผลิตสินค้าขายให้แก่ลูกค้าตามคำสั่งซื้อที่รออยู่ ในขณะเดียวกัน นาย B ซึ่งก็เป็นเพื่อนรักของคุณ มาขอยืมเงินคุณ 300,000 บาทเช่นกัน โดยมีเหตุผลว่า ธุรกิจของนาย B กำลังประสบปัญหา ไม่สามารถขายสินค้าได้ตามที่คาดการณ์ และการที่มาขอยืมเงินจากคุณนี้ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของธุรกิจที่เป็นอยู่ โดยคุณมีเงินเก็บซึ่งเป็นเงินสดอยู่ 1,000,000 บาท คุณจะให้เพื่อนทั้งสองคนยืมเงินตามที่ร้องขอคุณหรือไม่?”
คำตอบส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการที่ผู้เขียนสอบถามเมื่อต้องตอบคำถามนี้ก็คือ ให้ทั้งนาย A และนาย B ยืมเงินตามต้องการ เนื่องจากเป็นเพื่อนรักกันมาก และตนเองก็มีเงินเพียงพอที่จะช่วยเพื่อนทั้งสองคนซึ่งเป็นเพื่อนรักได้ และคำตอบบางส่วนก็คือให้นาย A ยืม โดยไม่ให้นาย B ยืมและก็มีผู้ประกอบการบางรายที่ตอบเลยว่าไม่ให้ยืมเงินเลยทั้งนาย A และนาย B โดยมีเหตุผลว่า “ให้เพื่อนยืมเงินแล้วทวงยาก” ซึ่งหลังจากได้รับคำตอบดังกล่าวแล้ว ผู้เขียนก็จะถามคำถามต่อดังนี้คือ
“จากตอนแรกที่คุณมีเงิน 1,000,000 บาท ตอนนี้คุณมีเงินเหลือแค่ 600,000 บาท หรือคุณสามารถให้เพื่อนรักทั้งสองคนของคุณนี้ ยืมเงินได้เพียงคนเดียวเท่านั้น คุณจะให้ใครยืมระหว่าง นาย A กับ นาย B?”
คำตอบเกือบทั้งหมดก็คือ ให้นาย A ยืม และก็มีคำตอบบางส่วนที่ไม่ให้ใครยืมเพราะ “ให้เพื่อนยืมเงินแล้วทวงยาก” เช่นกัน ผู้เขียนก็ได้ถามเหตุผลว่าทำไมเลือกให้ยืมเงินกับ นาย A โดยไม่ให้นาย B คำตอบในเหตุผลนี้เกือบทั้งหมดก็คือ “ให้นาย A ยืมมีสิทธิ์ได้คืน ถ้าให้นาย B มีสิทธิ์ไม่ได้คืน” ผู้เขียนก็จะถามต่อว่า
“คนที่เดือดร้อนคือใครระหว่าง นาย A กับ นาย B”
ทุกคนก็จะตอบว่า นาย B ผู้เขียนก็จะถามต่อไปว่า
“ถ้าคุณไม่ให้นาย A ยืมเงินตามที่ขอ นาย A จะเดือดร้อนหรือทำให้กิจการประสบปัญหาหรือไม่”
คำตอบส่วนใหญ่ก็คือ ไม่เดือดร้อน เพียงแต่เสียโอกาสในการทำกำไรไป
“แล้วถ้าไม่ให้นาย B ยืมเงิน นาย B จะเดือดร้อนหรือทำให้กิจการประสบปัญหาหรือไม่”
คำตอบก็คือ เดือดร้อนแน่นอน หรือธุรกิจอาจต้องปิดกิจการไป ผู้เขียนก็จะถามต่อว่า
“ทำไมคุณซึ่งเป็นเพื่อนรักกับคนทั้งสอง ถึงเลือกให้ยืมเงินกับคนที่ไม่เดือดร้อน หรือเรียกได้ว่ารวยอยู่แล้ว คือนาย A ในขณะที่ไม่ให้คนที่กำลังประสบปัญหา หรือกำลังเดือดร้อนอยู่เช่นนาย B”
คำตอบก็คือ “ให้นาย A ยืมมีสิทธิ์ได้คืน ถ้าให้นาย B มีสิทธิ์ไม่ได้คืน” เช่นเดียวกัน ถึงตรงนี้อาจมีผู้อ่านบางท่านคิดว่าถ้าเป็นท่านยังไงก็ให้ให้ยืมทั้งคู่ เพราะเพื่อนรักขอความช่วยเหลือทั้งที จะไม่ช่วยได้อย่างไร แต่ถ้าย้อนกลับไปดูข้อจำกัดตอนต้น โดยคิดถึงความเป็นจริงที่ท่านมีเงินอยู่เพียง 600,000 บาท การให้เพื่อนทั้งสองคนยืมไปท่านจะไม่เหลือเงินเลย ท่านอาจจะคิดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ถ้าท่านยืนยันว่าจะทำอย่างนั้นจริงๆ ผู้เขียนก็ต้องขอยกย่องในน้ำใจอันประเสริฐของท่านด้วยก็แล้วกัน เพราะสิ่งที่ผู้เขียนได้ระบุไว้ตรงจุดนี้เป็นเพียงคำตอบของ “เกือบทั้งหมด” ของผู้ประกอบการ มิได้หมายความว่าผู้ประกอบการทั้งหมดจะต้องแนวความคิดแบบนี้ เมื่อถึงจุดนี้ผู้เขียนก็จะถามคำถามต่อผู้ประกอบการว่า
“แล้วคุณคิดว่าธนาคารเป็นเพื่อนของคุณหรือเปล่า?”
ผู้ประกอบการทั้งหมดก็จะเข้าใจได้ในสิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงมาทั้งหมดได้เองว่า ขนาดเพื่อนรักกันจะให้ใครยืมเงินยังต้องคิดก่อนว่าจะให้เพื่อนคนไหนยืม มีสิทธิ์ได้คืนหรือไม่ แล้วนับประสาอะไรกับธนาคารที่ไม่ได้รู้จักกับผู้กู้เลย จะไม่เลือกผู้ขอกู้เงินที่มีความสามารถที่จะคืนเงินกู้ให้กับทางธนาคารได้ (ตรงจุดนี้มิได้หมายความถึงการรู้จักกันเฉพาะตัวบุคคล เช่น ผู้จัดการธนาคารซึ่งรู้จักผู้ขอกู้ซึ่งเป็นอีกกรณีที่แยกต่างหากออกไป) เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนมากมักตำหนิธนาคารหรือสถาบันการเงินว่า ชอบที่จะให้เงินกู้แก่คนรวย ให้เงินกู้แก่ธุรกิจที่ไม่เดือดร้อน หรือแทบจะวิ่งไปขอให้ธุรกิจที่ไม่เดือดร้อนเหล่านี้ช่วยกู้เงินหน่อย ในขณะที่ไม่ยอมให้กู้เงินกับธุรกิจที่เดือดร้อน หรือมีปัญหาที่ต้องการเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งสาเหตุก็มาจากเรื่องทั้งหมดที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงมาก่อนหน้านั่นเอง เพราะขนาดตัวคุณเองยังคิดอย่างนี้กับเพื่อนรัก ธนาคารซึ่งก็คือธุรกิจประเภทหนึ่งย่อมต้องคิดเช่นกัน แถมยังอาจจะคิดมากกว่าคุณเสียอีก เพราะในเมื่อธนาคารก็คือธุรกิจ ธุรกิจย่อมต้องแสวงหาผลกำไร คงไม่มีธุรกิจใดที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการให้ขาดทุน ดังนั้นเมื่อกำไรมาจากการให้กู้ยืม เงินจากการกู้ยืมก็ต้องมั่นใจว่า จะได้รับคืนมาพร้อมผลตอบแทนคือดอกเบี้ยของธนาคารนั่นเอง
มาถึงตรงจุดนี้อาจมีผู้ประกอบการหรือผู้อ่านบางรายเข้าใจว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ธุรกิจของตนซึ่งมีปัญหาอยู่ ก็จะไม่สามารถขอเงินกู้จากธนาคารได้ ซึ่งก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะก็มีธุรกิจจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งติดต่อขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการขยายกิจการ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเช่นกัน โดยสาเหตุมาจากสิ่งเดียวกัน คือ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับทางธนาคารได้ว่า ธุรกิจมีความสามารถในการชำระคืนเงินที่กู้ยืมจากธนาคารไปได้นั่นเอง แม้ว่าจะมีองค์ประกอบสำคัญอื่นๆครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องของหลักประกันในการค้ำประกันสินเชื่อ นอกเหนือจากการตรวจสอบธุรกิจที่ดำเนินการอยู่
โดยกุญแจสำคัญดอกหนึ่งสำหรับธุรกิจที่ประสบปัญหา และต้องการขอกู้ยืมเงินจากธนาคาร นั่นคือ“แผนธุรกิจ” ที่ผู้ประกอบการจัดทำขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าธุรกิจสามารถนำเงินกู้ที่ได้รับจากธนาคาร ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ และจากวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นจะทำให้ธุรกิจไม่เกิดปัญหาขึ้นอีก รวมถึงธุรกิจมีกระแสเงินสดอย่างเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ และสามารถชำระคืนเงินกู้ให้กับทางธนาคารได้ตามกำหนด ซึ่งข้อสังเกตุหนึ่งที่ผู้เขียนพบก็คือ ธุรกิจที่ประสบปัญหาซึ่งได้เคยติดต่อขอกู้เงินจากธนาคาร และได้รับการปฏิเสธ มักจะไม่เคยมีการจัดทำแผนธุรกิจ หรือแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้นไม่มีคุณภาพหรือรายละเอียดเพียงพอ ในการที่จะสร้างความมั่นใจให้กับทางธนาคารว่าธุรกิจสามารถอยู่รอด หรือปัญหาที่เกิดขึ้นมีวิธีการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเป็นเพียงความเข้าใจของตัวผู้ประกอบการเองเท่านั้นว่า ถ้าตนเองได้รับเงินกู้ยืมตามต้องการแล้ว ปัญหาที่เป็นอยู่จะหมดไป เนื่องจากปัญหาทางการเงินที่เป็นอยู่ของธุรกิจนั้น แท้จริงเป็นเพียง “ผลลัพธ์” จากการดำเนินธุรกิจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การบริหารจัดการบุคคล การตลาด การผลิต หรือการเงิน ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เช่น บุคคลากรไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการดำเนินการตลาดที่เหมาะสมกับลูกค้า การผลิตที่มีกระบวนการที่ล่าช้าหรือมีส่วนสูญเสียมาก หรือการบริหารเงินทุนหมุนเวียน การบริหารเงินสด ที่ไม่ดีเพียงพอ ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเงินทั้งสิ้น ซึ่งแผนธุรกิจจะเป็นตัวบอกถึงการบริหารจัดการดังกล่าวทั้งหมด ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ดังนั้นผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาจึงต้องให้ความใส่ใจในการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อเสนอต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินเป็นพิเศษซึ่งอาจมากกว่าธุรกิจที่ต้องการขยายกิจการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากยอดสั่งซื้อ หรือการเคลื่อนไหวในบัญชีธนาคารได้โดยตรง
จากที่กล่าวมาทั้งหมดในเรื่องของ “ธนาคารไม่ใช่เพื่อน” นี้คงพอที่จะเป็นแนวทางสำหรับผู้อ่านซึ่งเป็นผู้ประกอบการ ทราบถึงเหตุผลในการอนุมัติหรือการปฏิเสธในขอกู้ยืมจากธนาคารได้มากยิ่งขึ้นขนาดเพื่อนกันยังต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะให้เพื่อนคนไหนยืมเงิน แล้วธนาคารเป็นใคร เพื่อนก็ไม่ใช่ ก็ต้องคิดเหมือนกันว่าจะให้ใครยืมเงินถึงมีสิทธิ์ได้คืน
ขอบคุณบทความดีดีโดย : คุณรัชกฤช คล่องพยาบาล
ที่ปรึกษา SMEs ด้านการเงินและการร่วมลงทุน
ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
คลิกเพื่อดู โรงพิมพ์ JR