ถูกตรวจสอบภาษี
ภาษี t

ถูกตรวจสอบภาษี

83 / 100

ถูกตรวจสอบภาษี

เมื่อกิจการถูกตรวจสอบภาษี จะต้องปฎิบัติตัวอย่างไร

จะต้องรู้ว่า ถูกตรวจภาษีชนิดใด (VAT หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล) ขอเอกสารอะไรบ้าง กำหนดให้ไปพบเมื่อใด 

ดูความพร้อมของเราก่อน ว่าจะใช้เวลาเท่าใดในการรวบรวมเอกสาร  แล้วจึงโทร.ไปนัดในวันที่เราพร้อมถูกตรวจสอบภาษี ไม่ควรเลื่อนนัดเกิน หนึ่งเดือน

   ในยุคนี้การที่จะได้รับบัตรเชิญจากสรรพากร เพื่อขอตรวจสอบภาษี เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยมากเพราะเมื่อเดือนก่อนท่าน อธิบดีกรมสรรพากร ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ ไว้ว่านโยบาย คือ ใกล้ชิด เป็นรายตัว เป็นปัจจุบัน แปลว่าเขาจะมีเจ้าหน้าที่ประกบผู้เสียภาษีแต่ละรายเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ถึงเราจะได้ทราบแล้วจากฉบับก่อนว่าการทำตัวให้พร้อมเสมอต่อการตรวจสอบต้องทำอย่างไร แต่พอเจอเข้าจริงๆ ก็คงจะอดไม่ได้ที่จะหนาวๆ ร้อนๆ เหมือนกัน

วันนี้เราจะมาคุยกันในประเด็นที่ว่าเมื่อถึงเวลาถูกตรวจสอบจริงๆ จะต้องปฎิบัติตัวอย่างไร

1. เมื่อได้รับหมายเรียกไม่ต้องตกใจ ให้ตั้งสติแล้วอ่านดูว่า เขาจะมาตรวจภาษีชนิดใด (VAT หรือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล) ขอเอกสารอะไรบ้าง กำหนดให้ไปพบเมื่อใด

2. มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ทางด้านภาษีเป็นอย่างดี มีมนุษยสัมพันธ์ เป็นผู้คอยประสานงานซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งพนักงานของเราเองหรือถ้าไม่มีก็ควรจะว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาทำให้เฉพาะกิจ เพราะจะช่วยให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างราบรื่นและช่วยประหยัดภาษีได้ ดีกว่า เพราะผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์จะสามารถหาทางหนีทีไล่หรือเจรจาต่อรองผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

3. ไม่ต้องรีบหรือผลีผลามไปตามนัด เพราะถ้าไปแล้วไม่พร้อมก็จะถือเป็นการเริ่มต้นที่ไม่ดีและอาจจะสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้แก่เจ้าหน้าที่ฯ อีกประการหนึ่งเจ้าหน้าที่สรรพากรเองเขาก็มีงานยุ่งมาก ที่นัดมาเพราะทำตามหน้าที่

ดังนั้นถ้าเราจะขอเลื่อนวันนัดออกไปบ้าง เขากลับจะดีใจจะได้เอาเวลาไปเคลียร์งานอื่นๆ ได้ ดังนั้นดูความพร้อมของเราก่อน ว่าจะใช้เวลาเท่าใดในการรวบรวมเอกสาร ตรวจสอบเบื้องต้น แล้วจึงโทร.ไปนัดในวันที่เราพร้อมโดยต้องมีเหตุผลที่ดีและไม่ควรเลื่อนนัดเกิน หนึ่งเดือน

4. เมื่อรู้ว่าจะตรวจภาษีชนิดใด และขอเอกสารอะไร เราก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าในเรื่องนั้นๆ สรรพากรจะสนใจข้อมูลในด้านใด

กรณีขอตรวจ VAT

ในแง่ภาษีขาย เขาจะดูว่ารายได้ทั้งหมดได้มีการออกใบกำกับฯครบถ้วนหรือไม่ กรณีมีการออก VAT 0% เขาจะดูต้องมีใบขนฯที่ประทับตราของกรมศุลฯเป็นหลักฐานในการส่งออก หรือถ้าเป็นค่าบริการก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

ในแง่ภาษีซื้อ เขาจะดูความครบถ้วนสมบูรณ์ของใบกำกับภาษีซื้อ และมักจะชอบดูว่าเวลามีการชำระค่าบริการไปต่างประเทศได้มีการนำส่ง VAT 7% ของค่าบริการ ด้วย ภพ.36 หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้มักจะหลงลืมกันบ่อย

กรณีขอตรวจภาษีเงินได้นิติบุคคล

เมื่อถูกตรวจสอบ ประเด็นหลัก ที่สรรพากรสนใจก็คือเราบันทึกรายได้ครบถ้วนหรือไม่และค่าใช้จ่ายที่เรานำมาหักนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ค่าใช้จ่ายที่จ่ายออกไปมีการ หักภาษี ณ.ที่จ่ายไว้ครบถ้วนหรือไม่

ในแง่รายได้ ส่วนใหญ่เขาจะตรวจสอบโดยขอหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรณีส่งออก เขาจะขอตัวเลขการส่งออกจากรมศุลกากร มาเช็คว่าเรา นำมาบันทึกยอดขายส่งออกครบหรือไม่ หรือกรณีมีการขายผ่านบัตรเครดิต เขาก็จะขอรายงานจากสถาบันที่เกี่ยวข้อง มากระทบกับยอดขายของเรา

ในแง่รายจ่าย เขาจะดูความสมบูรณ์ของเอกสาร และดูว่าการหักค่าใช้จ่ายนั้นเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ใน มาตรา 65 ทวิและ 65 ตรี ของประมวลรัษฎากร หรือไม่ เช่น ค่ารับรอง ค่าการกุศล ค่าเสื่อมราคา หรือรายจ่ายประเภททุนเป็นต้น กรณีที่มีการผลิต เขาก็จะสนใจว่า กำไรขั้นต้นจะต้องไม่ติดลบ

ในแง่ภาษีเงินได้หัก ณ.ที่จ่าย เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ให้กิจการต้องมีหน้าที่ต้องหัก ภาษี ณ.ที่จ่ายและนำส่งให้กรมฯเมื่อมีการจ่ายค่าบริการบางประเภทแก่ผู้ให้บริการ เช่น ค่าเช่า 5% ค่ารับจ้างทำของ 3% ค่าโฆษณา 2% ฯลฯ แต่ถ้าเราไม่ได้ปฎิบัติตาม เราจะต้องรับผิดชอบต่อภาษีจำนวนนั้นแทน ผู้ให้บริการ

ดังนั้นเวลาตรวจสอบเรื่องนี้ สรรพากร จะวิเคราะห์ง่ายๆด้วยการดูว่าในบัญชีแยกประเภทแสดงยอดค่าบริการแต่ละประเภท ที่ต้องหัก ณ.ที่จ่าย ไว้เท่าใด ก็จะคูณด้วยอัตราภาษีหัก ณ.ที่จ่าย ของบริการประเภทนั้นแล้วก็ไปดูว่าเราได้มีการยื่นภาษีหัก ณ.ที่จ่ายไว้ถูกต้องตรงกับที่เขาคำนวณได้หรือ

ถ้าไม่ตรงกันเราก็ต้องชี้แจงเหตุผล ถ้าลืมหักไว้ก็จะถูกปรับ เรื่องที่มักจะทำผิดกันมากอีกเรื่องก็คือการหัก ณ.ที่จ่ายในกรณีที่ส่งเงินไปชำระค่าบริการ ในต่างประเทศบางประเภท เช่น ค่าสิทธิ ซึ่งมักจะลืมหัก ณ.ที่จ่ายและนำส่งด้วย ภ... 54

สำหรับการหัก ณ.ที่จ่ายของรายจ่ายประเภทเงินเดือน เขาก็จะดูว่าเราได้ นำเอาประโยชน์เพิ่มที่ให้กับพนักงานมารวมในการคำนวณภาษีหัก ณ.ที่จ่ายไว้ครบถ้วนหรือไม่ ประโยชน์เพิ่มเหล่านี้ก็ได้แก่ กรณีที่บริษัท จัดหาที่พักให้แก่พนักงาน รถประจำตำแหน่ง ค่าสมาชิกกอล์ฟ เป็นต้น

เมื่อวิเคราะห์ได้ว่าเขาจะตรวจอะไร ก็ต้องเอาเอกสารที่เขาขอมาดูและตรวจสอบความครบถ้วนความถูกต้อง รวมทั้งดูว่าเรามีจุดอ่อนตรงไหนและพยายามหาทางหนีทีไล่ไว้หรือคำนวณไว้คร่าวๆ ว่าจะถูกปรับเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อที่จะตั้งรับได้ถูก

—————————————————————-

1. เมื่อถูกตรวจกิจการส่วนใหญ่เลือกที่จะนำเอกสารไปให้ที่สำนักงานของสรรพากรมากกว่าที่จะยอมให้มาตรวจที่สำนักงานของกิจการแต่ลองคิดดูในมุมกลับ ถ้าท่านกล้าที่จะเชิญเขามาตรวจถึงที่อาจจะสามารถสร้างความน่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่งว่าเราไม่มีอะไรซ่อนเร้นอยู่ วิธีการที่ปลอดภัยก็คือจัดห้องไว้ให้เป็นพิเศษและคอยอำนวยความสะดวกในเรื่องข้อมูลและเอกสาร และเมื่อเขามาถึงให้อธิบายคร่าวๆ ถึงวงจรธุรกิจ หรือกรณีเป็นโรงงานก็ให้พาชมขบวนการผลิต ควรแนะนำพาผู้บริหารมาแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ฯที่มาตรวจเพื่อแสดงถึงการให้เกียรติกัน

2. ต้องแสดงจุดยืนให้เห็นว่า กิจการของเรา ไม่มีนโยบายหลีกเลี่ยงภาษีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือต่อการกำกับดูแลของสรรพากรเสมอ แต่อาจจะเกิดความผิดพลาดได้ก็เพราะไม่เข้าใจกฎหมายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เราก็พร้อมที่จะทำของใหม่ให้ถูกต้องตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ

3. พึงระลึกอยู่เสมอว่า มากข้อมูล มากความ ดังนั้น อย่าให้ข้อมูลหรือรายละเอียดเกินกว่าที่เขาขอ เช่น เขาขอข้อมูล เดือน มค. แต่เรากลับส่งให้ทั้งแฟ้มที่มีข้อมูล ม.. ถึง ธ.. อยู่ ซึ่งเขาอาจไปเปิดเจอข้อผิดพลาดในเดือนอื่นเลยพาลตรวจหมดทั้งปี เป็นต้น

4. ไม่ต้องอธิบายในสิ่งที่เขาไม่ได้ถามเพราะอาจชี้นำไปสู่ประเด็นการตรวจสอบอื่นๆ เรื่องนี้อาจป้องกันได้โดยการมอบหมายให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและเป็นคนกลางที่จะมาตอบคำถามเอง เพราะการปล่อยให้มีผู้ตอบคำถามหลายๆ คนมีแต่จะก่อให้เกิดความสับสนทางข้อมูลและควบคุมไม่ได้

5. ในบางครั้งท่านอาจจะเจอว่าในจำนวนเอกสารหลายๆ ใบ ที่เขาขอมามีอยู่ใบหนึ่งที่ไม่ ถูกต้อง ถ้าส่งไปต้องโดนปรับหัวโตแน่นอน ท่านอาจลองวัดดวงด้วยการแกล้งทำเป็นลืม ซึ่งถ้าเขาลืมด้วยก็รอดตัวไปแต่ถ้าเขายังจำได้ก็เสมอตัว

6. ในกรณีที่มีทีท่าว่าจะถูกปรับหลายกระทง ให้ทำความเข้าใจถึงประเด็นความผิดและการตีความของสรรพากรในแต่ละกระทง แล้วพยายามหาข้อมูลที่จะช่วยเราให้พ้นประเด็นความผิดนั้น เช่น เคยมีกิจการหนึ่งถูกประเมินว่าต้องเรียกเก็บ VAT เพิ่ม 7% จากการให้บริการ ของบิลขายจำนวนหนึ่ง

เมื่อเราอธิบายได้ว่าเราเช็คจากข้อหารือที่กรมเคยตอบแก่กิจการหนึ่งแล้วพบว่าบริการดังกล่าวเป็นบริการที่เกิดขึ้นในประเทศได้มีการใช้บริการในต่างประเทศ(เช่น การรับเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้บริษัทในต่างประเทศ) ซึ่งเข้าข่าย VAT 0% พร้อมทั้งถ่ายสำเนาข้อหารือนั้นให้เขา

ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ก็ยอมรับและงดปรับในกระทงนั้นไป การมีข้อโต้แย้งท่านจะต้องมีหลักฐานที่เป็นทางการมาอ้างอิงเสมอ ไม่ว่าจะจากประมวลฯหรือจากข้อหารือฯ ก็ตาม

7. ในการตรวจสอบถ้าพบว่าเจ้าหน้าที่ที่มาทำการตรวจสอบ ปฎิบัติต่อเราอย่างไม่ยุติธรรมให้พยายามคุยเพื่อปรับความเข้าใจให้ได้ แต่ถ้าเอาไม่อยู่จริงๆ เราสามารถขอคุยกับระดับหัวหน้าของเขาได้

8. เมื่อการตรวจสอบสิ้นสุดลง เขาจะมีบันทึกสรุปผลการตรวจสอบ กระทงความผิดต่างๆ พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับต่างๆ ท่านต้องอ่านให้เข้าใจและอย่าลงนามจนกว่าจะเช็คกับผู้รู้ว่าความผิดในแต่ละกระทงนั้นท่านผิด จริงหรือมีทางออกอื่นหรือไม่ เพราะถ้าท่านลงนามไปแล้วจะแก้ไขไม่ได้

9. กรณีมีความผิดจริง ท่านสามารถขอลดหรืองดเบี้ยปรับได้แล้วแต่กรณี โดยทำจดหมายขอลดหรืองดเบี้ยปรับ ด้วยเหตุผลว่าเราไม่มีนโยบายหลีกเลี่ยงภาษีและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือต่อการกำกับดูแลของสรรพากรเสมอ แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นเพราะไม่เข้าใจกฎหมายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เราก็พร้อมที่จะทำของใหม่ให้ถูกต้องตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ

10. ถ้าท่านคิดว่าการประเมินนั้นไม่ยุติธรรม ท่านสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน โดยต้องศึกษาขั้นตอนการอุทธรณ์ให้เข้าใจ

11. กรณีที่พบว่าจำนวนภาษี เงินเพิ่มและเบี้ยปรับ รวมกันแล้วเป็นจำนวนที่สูงเกินกว่าจะชำระในงวดเดียวได้ท่านสามารถขอผ่อนชำระได้ ประมาณ หกเดือนหรือถ้าต้องการงวดยาวกว่านั้นก็อาจทำได้โดยต้องขออนุมัติเป็นกรณีพิเศษ

ถ้าท่านปฎิบัติตามได้ตาม วิธีที่กล่าวมาข้างต้นก็เชื่อได้ว่าจะสามารถเอาตัวรอดได้ระดับหนึ่งและขอแนะนำให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีการและเทคนิคในการตรวจสอบเอาไว้ เพื่อที่ต่อไปท่านสามารถลอกเลียนแบบโดยตรวจสอบในจุดนั้นเสียเองและแก้ไขก่อนที่สรรพากรจะส่งหมายเชิญมา

กรณีที่เจอประเด็นความผิดต่างๆ ก็ให้นำมาปรับปรุงการทำงานในปัจจุบันเพื่อที่เราจะได้มีความพร้อมมากขึ้นในการตรวจสอบครั้งหน้า


ขอบคุณบทความดีดีโดย : คุณ ศิริรัตน์ โชติเวชการ

ขอบคุณบทความดีดีจาก : หนังสือพิมพ์ Business Thai ฉบับวันที่ 19 และ 24 เมษายน  2545

คลิกเพื่อดู   โรงพิมพ์ JR

โรงพิมพ์ เจอาร์

สรรพากรเข้าตรวจภาษี จะทำอย่างไร

 

+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0