วางแผนก่อนเริ่มธุรกิจ
เริ่มต้นธุรกิจ t ธุรกิจของตนเอง

แผนธุรกิจก่อนเริ่มธุรกิจใหม่

81 / 100

แผนธุรกิจ

เส้นทางเดินของการเจริญเติบโตที่มั่นคงและชัดเจน จำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นด้วยการมี แผนธุรกิจ เป็นของตัวเองเสียก่อน

เพราะ แผนธุรกิจ จะเป็นเสมือน “เข็มทิศ” ชี้บอกตำแหน่งและสถานะของธุรกิจได้ว่า กำลังเดินไปในทิศทางที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ เดินไปได้ช้าหรือเร็วอย่างไร รวมไปถึงการชี้ให้เห็นโอกาสและอุปสรรคที่ไม่ได้เตรียมการไว้ หรือเป็นสภาวะที่เกิดจากการปรับตัวของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่คาดการณ์ไว้ไม่ถึง

ปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมักจะประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ หลายๆ อย่างที่จะมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ปัจจัยเหล่านี้มักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางครั้งจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ได้ยาก

มิหนำซ้ำ ปัจจัยเหล่านี้ อาจมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นเป็นทวีคูณ

ดังนั้น การเริ่มต้นธุรกิจ จึงจำเป็นที่เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการใหม่ จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือตรวจสอบเตือนภัยทางธุรกิจ ที่สามารถจำลองภาพสถานการณ์ต่างๆ ทางธุรกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สามารถกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในช่วงเวลาต่างๆ ให้เหมาะสมกับโอกาส หรือ อุปสรรค ที่อาจเกิดขึ้น

หากเห็นช่องโอกาสเปิดให้ ก็ต้องรีบไขว่คว้ามาให้ได้ทันที

เพราะ “โอกาส” เป็นสิ่งที่มีไว้ให้ “ฉวย” หากท่านมองเห็น “โอกาส” แล้วนั่งมองโอกาสนั้นเฉยๆ โดยไม่ทำอะไร โอกาส ก็ย่อมจะหลุดลอยไปอย่างรวดเร็ว และอาจไม่หวนกลับมาให้ท่านได้เห็นอีกเลย

หากเห็น อุปสรรค อยู่ข้างหน้า ท่านอาจต้องงัดกลยุทธ์ การตั้งรับ รอเชิง หรือ รอดูสถานการณ์ไว้ก่อน โดยไม่ผลีผลาม ตกเหวลึกไปมากกว่านี้

เครื่องมือเตือนภัยล่วงหน้าทางธุรกิจนี้ ก็คือ “แผนธุรกิจ” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การมี แผนธุรกิจ ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จ หรือ เป็นคัมภีร์ ที่จะประกันว่าธุรกิจใหม่ของท่านจะต้องประสบความสำเร็จและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน แต่ แผนธุรกิจ จะเป็นเสมือนกระจกเงาที่จะสะท้อนให้ท่านมองเห็นปัญหา ต่างๆ ได้ทันทีที่ปัญหาเหล่านั้นเริ่มมาสร้างผลกระทบต่อธุรกิจของท่าน

แผนธุรกิจที่ชนะเลิศในการประกวดในเวทีต่างๆ เมื่อนำมาทำเป็นธุรกิจจริง อาจจำเป็นต้องปรับแผนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือก็ได้ หรือ แผนธุรกิจ ที่ได้รับรางวัลในการประกวดบางแผน อาจไม่มีทางที่จะนำมาทำเป็นธุรกิจได้จริงก็มี

ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า หากท่านเป็นผู้ใฝ่ฝันอยากจะสร้างธุรกิจอะไรก็ตามที่เป็นของตัวเองขึ้นมา สิ่งแรกสุดที่จะสานฝันของท่านให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ก็คือ การที่ท่านได้ทดลองเขียน แผนธุรกิจ ของท่านขึ้นมาด้วยตัวของท่านเอง

อาจจะเป็นแบบร่างง่ายๆ ไม่ต้องสลับซับซ้อนมากมายนัก เพื่อทดสอบว่า ไอเดีย ธุรกิจของท่านจะมีโอกาสเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน เป็นโอกาสที่ท่านจะได้ทดลอง บนกระดาษ เสียก่อนว่า จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างที่จะนำพาธุรกิจของท่านไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ

การลงมือเขียนแผนธุรกิจด้วยตัวเอง เป็นการเตรียมตัวที่ดีที่สุดที่จะตรวจสอบตัวเจ้าของธุรกิจเองว่า ตนเองมีความเข้าใจกับธุรกิจของตัวเองลึกซึ้งมากน้อยในระดับไหน ลึกซึ้งมากพอที่จะเอาชนะคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาดได้หรือไม่

แผนธุรกิจ หรือ Business Plan นั้นเป็นเสมือนกรอบแนวทางที่ทำให้การดำเนินการธุรกิจเป็นไปตามแผนงานที่วาง เอาไว้ ทำให้ผู้ประกอบการทั่วไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหม่มีความคิดและเป้าหมายที่ ชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกันสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังคิดจะขยายกิจการ แผนธุรกิจก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจของผู้ร่วมทุน หรือสถาบันการเงินที่คุณต้องกู้ยืมเงินอีกด้วย

การเริ่มธุรกิจนั้น จะต้องประกอบไปด้วยทักษะ 4 ส่วนหลักๆ
1.ความพร้อมในเรื่องคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบการ
2.ความรู้ในเรื่องของสินค้าและบริการที่จะทำ
3.ความรู้ในเรื่องการบริหารคน เงิน และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ
4.ความรู้ในเรื่องการวางแผนฯ

แผนธุรกิจก็คือ Roadmap ที่ต่อ Jigsaw สิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างเป็นระบบ โดยจัดทำเป็นเอกสาร…และใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกลยุทธ์กับบุคคลที่เกี่ยว ข้องกับการดำเนินธุรกิจนั้น
แผนธุรกิจที่ดีจะต้องมองรอบด้าน ทั้งปัจจัยภายนอก (โอกาส และอุปสรรค) สภาวะการแข่งขัน (คู่แข่ง ลูกค้า Supplier) และมองที่ปัจจัยภายใน ซึ่งผลจากการมองจะช่วยกำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้กับธุรกิจนั้นๆ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหยั่งรู้ได้…ดังนั้นแผนธุรกิจจะต้อง มีการ Update ทุกๆ 3-6 เดือน เมื่อผู้ประกอบการได้ข้อมูลใหม่ๆ ที่ทันต่อเหตุการณ์ มิใช่วางแผนธุรกิจ เพียงครั้งเดียว แล้วใช้ไปตลอด มี การรวบรวมสถิติของสาเหตุความล้มเหลวของธุรกิจ มากกว่า 90% มีสาเหตุมาจากขาดการวางแผนธุรกิจที่ดี กล่าวคือ มักจะใช้ประสบการณ์ หรือ เชื่อในประสบการณ์อย่างเดียว และละเลยการวางแผนธุรกิจ เมื่อสภาวะแวดล้อมภายนอกเปลี่ยน ก็มักจะปรับตัวไม่ทัน…

ดังนั้นถ้าใช้ประสบการณ์ + การวางแผนธุรกิจที่ดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในธุรกิจลงได้มาก

การเขียนแผนธุรกิจ คือ การถ่ายทอดความคิดเป็นตัวหนังสือ ตัวเลข กร๊าฟ และแผนภาพ ในกิจกรรมที่ทำแล้วเกิดผล กำไร

ทำไมต้องเขียนแผนธุรกิจ
1.ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่จะทำได้ชัดเจน เป็นระบบ ลดข้อผิดพลาด
2.ทำให้คนอื่น (ผู้ร่วมลงทุน เพื่อนร่วมงาน ผู้สนับสนุนทุน เป็นต้น) เข้าใจว่าเรากำลังจะทำอะไร
3.เป็นแผนที่นำทางในการทำงานในอนาคต

แผนธุรกิจที่ดี เมื่ออ่านแล้วควรจะต้องสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้
1.การก่อตั้งธุรกิจเป็นรูปร่างชัดเจนขนาดไหน เสร็จสมบูรณ์แล้วหรือยัง
2.ธุรกิจนี้น่าลงทุนหรือไม่
3.ธุรกิจที่จะทำมีแนวโน้มหรือโอกาสที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่เมื่อแรกตั้งมากน้อยขนาดไหน
4.ธุรกิจนี้มีความได้เปรียบหรือความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวมากน้อยเพียงใด
5.สินค้าที่จะผลิตที่มีประสิทธิภาพเพียงใด
6.สินค้าที่ผลิตสามารถวางตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
7.วิธีการผลิตและการวางตลาดสินค้านั้น มีทางเลือกอื่นๆ ที่ประหยัดได้มากกว่าหรือไม่
8.หน้าที่ต่างๆ เช่นการผลิต การจำหน่าย การจัดการทางการเงิน การจัดการคน มีการจัดการที่ดีเหมาะสมเพียงใด
9.จำนวนและคุณภาพของพนักงานที่ต้องการมีเพียงพอหรือไม่

ดังนั้นการจะเขียนแผนธุรกิจจึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมขั้นพื้นฐานก่อน ดังต่อไปนี้

1. บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

บทสรุปผู้บริหาร เป็นส่วนที่สรุปภาพรวมของแผนธุรกิจนั้นๆไว้ ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะเป็นส่วนที่ผู้ร่วมทุน และสถาบันการเงินจะอ่านก่อนเป็นอย่างแรก และตัดสินใจว่าจะอ่านต่อจนจบหรือไม่ ผู้ประกอบการจึงควรสละเวลาเป็นพิเศษในการทำให้บทสรุปผู้บริหารนี้น่าเชื่อ ถือ หนักแน่น และน่าติดตาม โดยเน้นหนักเรื่อง
– ลักษณะและแนวคิดของธุรกิจ
– โอกาสและกลยุทธ์หลักที่ใช้
– กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและการคาดคะเนลูกค้าเป้าหมาย
– ความได้เปรียบเชิงแข่งขันของธุรกิจ
– ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ และความสามารถในการทำกำไร
– ทีมผู้บริหาร
-ข้อเสนอผลตอบแทน (กรณีหาแหล่งทุนภายนอก)

2. ประวัติย่อของกิจการ

ประวัติย่อของกิจการ เป็นส่วนที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ
-ประวัติกิจการ/ผู้ประกอบการอย่างสั้น
-สถานที่ตั้งของกิจจการของเรา
-วิสัยทัศน์ (Vision)
-ระบุสิ่งที่ใฝ่ฝันอยากให้องค์กรเป็นในอนาคตข้างหน้า
-เราคือใคร? เราจะทำอะไร? เราจะมุ่งหน้าไปที่ไหน?
-ภารกิจหลัก (Mission) หรือ พันธกิจ
-กรอบในการดำเนินงานขององค์กร
-ลูกค้าของเราคือใคร? เราจะต้องทำอะไร? ทำอย่างไร? เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า)

3. การวิเคราะห์สถานการณ์

การวิเคาระห์สถานการณ์ การวิเคราะห์สถานการณ์เป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดทิศทาง กลยุทธิ์ และแผนการดำเนินงานของกิจการ จึงเป็นงานอันดับแรกที่คุณควรกระทำ เครื่องมือที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์นั้นเรียกว่า SWOT Analysis ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยภายในอย่างจุดแข็ง (Strength) และ จุดอ่อน (Weaknesses) ของกิจการ รวมไปถึงโอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก

4. วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ

วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ คือ ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่กิจการต้องได้รับในช่วงระยะเวลาของแผนนั่นเอง การวางแผนเป้าหมายทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือนั้นคุณจะต้องแสดงให้เห็นความเป็น ไปได้ ที่สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น
-ระบุสิ่งที่จะต้องทำให้ประสบผลสำเร็จ อาจแบ่งออกเป็นวัตถุประสงค์ระยะสั้นและระยะยาวหรืออาจแบ่งออกเป็นวัตถุประสงค์ด้านการตลาด ด้านการผลิต ด้านการเงิน ฯลฯ
-เป้าหมาย (Goal) ระบุตัวชี้วัดสำหรับวัตถุประสงค์ในแต่ละข้อ

5. แผนการตลาด
แผนการตลาด การเขียนแผนการตลาด ผู้เขียนจะต้องอาศัยการวิเคราะห์สถานการณ์ ร่วมกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจที่ได้กล่าวไปในข้อ 3 และข้อสี่ เพื่อใช้หาเป้าหมายทางการตลาด ทำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายนั้น และสร้างกลยุทธ์ต่างๆ เช่น
-ยอดขาย (Sales Value)
-ปริมาณขาย (Sales Volume)
-ส่วนแบ่งตลาด (Market Share)
-การเจริญเติบโตของตลาด (Market Growth)
-ฐานลูกค้า (Customer Share)
-ระดับความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction)
-อัตราการกลับมาซื้อซ้ำ (Re-purchase Rate)

6. แผนการผลิต

การเขียนแผนการผลิตนี้ผู้เขียนจำเป็นต้องเขียนเรื่องแผนการผลิตและการ ปฏิบัติให้ละเอียด เพราะมันเป็นสิ่งที่สะท้อนความสามารถของกิจการในการจัดการกระบวนการผลิตและ ปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่สำคัญต้องมุ่งเน้นประเด็นการจัดการระบบการแปลงสภาพวัตถุดิบและทรัพยากรใน การผลิตให้เป็นผลผลิต ซึ่งในที่นี้คือจำนวนหรือมูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตได้นั่นเอง เช่น
-กระบวนการผลิต
-สินทรัพย์ถาวรที่ใช้ในการผลิต อายุการใช้งาน และเงินลงทุน
-กำลังการผลิตที่วางไว้
-ที่ตั้งโรงงานและการวางผังโรงงาน
-รายการวัตถุดิบ จำนวนที่ใช้ และต้นทุนวัตถุดิบ
-แรงงาน ตำแหน่งงาน คุณสมบัติของแรงงาน
-ต้นทุนแรงงาน
-ค่าใช้จ่ายโรงงาน
-สรุปต้นทุนการผลิต (นำไปปรับปรุงราคาในแผนการตลาด)

7.แผนการจัดการและแผนคน

ส่วนนี้คือการเขียนแผนผังโครงสร้างขององค์กรนั่นเอง ผู้จัดทำแผนจะต้องระบุตำแหน่ง หน้าที่ และประโยชน์ของหน่วยงานในองค์กร เช่น
-รูปแบบธุรกิจ
-โครงสร้างองค์กร (ผังองค์กร)
-ประสบการณ์ทางธุรกิจและคุณสมบัติของผู้ประกอบการ
-กิจกรรมก่อนเริ่มดำเนินการ และค่าใช้จ่าย
-ที่ตั้งสำนักงาน และสาขา (ถ้ามี)
-อุปกรณ์สำนักงาน และอายุการใช้งาน
-ค่าใช้จ่ายในการบริหาร

8. แผนการเงิน
แผนการเงิน แผนการเงินจะประกอบด้วยสมมติฐานต่างๆทางการเงิน เช่น
-เงินทุนที่ต้องการ (ต้นทุนโครงการ)
-แหล่งเงินทุน (แผนการลงทุนและการกู้เงิน)
-ประมาณการจุดคุ้มทุน
-ประมาณการงบกำไรขาดทุน
-ประมาณการงบดุล
-ประมาณการงบกระแสเงินสด
-การชำระคืนเงินกู้หรือการจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน
-การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
แผนการเงินนั้นมีส่วนช่วยให้ผู้ร่วมลงทุนและสถานบันการเงินเกิดความมั่นใจ เพราะถ้าหากเราตั้งสมมติฐานทางการเงินอย่างสมเหตุสมผลเราก็จะดูน่าเชื่อถือ ในทางตรงกันข้ามถ้าเราตั้งสมมติฐานทางการเงินไม่สมเหตุสมผลก็จะทำให้เราดู อ่อนประสบการณ์ไปโดยปริยาย

9. แผนการดำเนินงาน

แผนการดำเนินการ คือการจัดทำรายละเอียดของกลยุทธ์แต่ละด้านให้เป็นรูปธรรมนั่นเอง ผู้ประกอบการอาจจะสร้างเป็นตารางแจกแจงให้เห็นเป้าหมาย กลยุทธ์ วิธีการ งบประมาณ และระยะเวลาดำเนินการ เป็นรายเดือนหรือรายปี เช่น
-จัดทำรายละเอียดกิจกรรมที่ต้องทำ
-แบ่งตามช่วงเวลา
-ระบุงบประมาณ
-ระบุวิธีการวัดผล ประเมินผลกิจกรรม
-ระบุผู้รับผิดชอบ

10. แผนฉุกเฉิน
แผนฉุกฉิน เป็นแผนสุดท้ายที่จำเป็นต้องมีเพื่อเอาไว้รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ได้ คิดไว้ล่วงหน้าหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น คู่แข่งขายสินค้าตัดราคา สินค้าถูกเลียนแบบ หรือวัตถุดิบไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้กิจการได้รับผลในด้านลบ ผู้ประกอบการควรอธิบายเรื่องความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นควบคู่กับแผนฉุกเฉิน เอาไว้ล่วงหน้า เพราะนอกจากจะได้เป็นการเตรียมการในการแก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้ผู้ร่วมลงทุน และสถาบันการเงินเห็นความพร้อมของเราอีกด้วย

ขอบคุณบทความดีดีโดย : คุณ เรวัต ตันตยานนท์ ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ    และ จาก www.whoknow.com

คลิกดูเลย       โรงพิมพ์ JR

แนะนำบทความดีดี

      เรื่องที่เถ้าแก่ใหม่ต้องคิด

      ทำไมต้องวางแผนการเงิน 

     ข้อผิดพลาดนักธุรกิจมือใหม่

โรงพิมพ์ เจอาร์

 

+1
2
+1
2
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
2