วิธีพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส
เว็บไซต์สมาคมจิตวิทยาอเมริกา (APA) มีคำแนะนำเรื่อง “10 วิธีพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส (สู้ + ไม่ยอมแพ้)” หรือ “10 ways to build resilience (10 วิธีสร้างความสามารถในการพลิกฟื้นหลังวิกฤต)”
ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังในสไตล์ “ไทยหลายคำ-อังกฤษน้อยคำ” เพื่อให้พวกเรา (ทั้งท่านผู้อ่านและท่านผู้เขียน) ได้เรียนภาษาอังกฤษไปด้วยกันครับ
1). Make connections = สร้างความสัมพันธ์
ไม่ว่าชีวิตจะสูงขึ้นหรือต่ำลง…สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การมีญาติสนิทมิตรสหายที่ดี ยุคนี้ดีกว่ายุคไหนๆ ตรงที่ว่า คนเรามีมิตรภาพได้ทั้งออฟไลน์ (off-line = ชีวิตจริงนอกอินเตอร์เน็ต) และออนไลน์ (online = ชีวิตบนอินเตอร์เน็ต)
…อาจารย์หมอบุญนำ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเขียนไว้ในจุลสารสภานักศึกษา มอ. ประมาณปี 2525 ว่า คนที่มีพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ หรือญาติสนิทมิตรสหายดีเปรียบเสมือนคนที่ที่ “ที่พิงหลัง” พบวิกฤติอะไรก็พอกลับไปลี้ภัยได้ ระบายได้ เปรียบคล้ายกันชน (buffer) ทำให้ชีวิตมีทางออกในยามวิกฤต ทำให้ล้มได้ยาก
การมีญาติสนิทมิตรสหายดีๆ อย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้จักบ่มเพาะมิตรภาพให้งอกงามด้วย เช่น รู้จักแสดงความชื่นชมคนรอบข้างอย่างน้อยวันละครั้ง ไปเยี่ยมเยียนพร้อมของฝากหรือข่าวดีบ้าง ฯลฯ
2). Avoid seeing crises as unsurmountable problems = หลีกเลี่ยงการมองวิกฤติว่า เป็นทางตัน (ไม่มีทางออก)
ควรฝึกมองโลกในหลายมุมมอง เมื่อมีข่าวดีเข้ามา…ให้ลองมองหาข่าวร้ายที่มักจะแฝงมาด้วย เมื่อมีข่าวร้ายเข้ามา…ให้ลองมองหาข่าวดีที่มักจะแฝงมาด้วยเสมอ
…ปัญหา (ชีวิต) มีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้เรายอมจำนน กล่าวกันว่า ดาบดีเพราะผ่านร้อนผ่านหนาว
การทำดาบเมื่อก่อนจะเผาไฟ ตีๆๆๆๆ ชุบน้ำ ทำให้เหล็กมันร้อนๆ หนาวๆ อย่างนี้หลายๆ ครั้ง ดาบจึงจะแกร่ง ชีวิตที่ผ่านอุปสรรคมามาก (และยืนหยัด ไม่ยอมแพ้) มักจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ
3). Accept that change is a part of living = ยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ชีวิตมักจะประกอบด้วยส่วนที่เราควบคุมได้ และส่วนที่เราควบคุมไม่ได้…หน้าที่ของเราคือ ทำส่วนที่เราควบคุมได้ให้ดีที่สุดอย่าไปกังวล หมกมุ่นกับส่วนที่เราควบคุมไม่ได้มากเกินไป เพราะถึงกังวลก็ทำอะไรกับส่วนนี้ไม่ได้
เมื่อทำส่วนที่เราควบคุมดีที่สุดแล้ว ขอให้มั่นใจว่า เราทำเต็มที่แล้ว ได้เท่าไรก็เท่านั้น เพราะนั่นคือ อะไรที่ดีที่สุด เต็มแรง เต็มกำลังของเราแล้ว…ที่เหลือก็ต้องใช้ยา “ทำใจ” กันบ้างละ
(4). Move towards your goal = ก้าวไปสู่เป้าหมาย
ความสำเร็จใหญ่ๆ มักจะมาจากความพยายามเล็กๆ หลายๆ ครั้ง แน่นอนว่า มักจะต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลาน เดินหน้าถอยหลังหลายครั้ง คนที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวคือ คนที่ยืนหยัดได้บ่อย ได้นาน และพร้อมจะเริ่มต้นใหม่บ่อยๆ ไม่ว่าจะล้มเหลวกี่ครั้งก็ตาม
(5). Take decisive actions = ทำจริง ไม่โลเล
คนที่ประสบความสำเร็จมักจะหาข้อมูลรอบด้านมาประกอบการตัดสินใจปัญหา ตัดสินด้วยความมั่นใจ (decisive) และลงมือทำ (actions) ไม่หลีกลี้หนีปัญหา ซื้อเวลา แต่จะตัดสินใจ และลงมือทำ และ “ทำจริง”
(6). Look for opportunities for self-recovery = มองหาโอกาสแห่งการพลิกฟื้นกลับคืนมา
คนที่ประสบความสำเร็จมักจะเป็นคนที่มีวินัยในการควบคุมตัวเองสูง เชื่อมั่นในการลงมือทำอะไรดีๆ
ตัวอย่างเช่น ถ้าป่วยหนักก็เป็นคนไข้ที่ดี ทำตามที่พยาบาลหรือหมอแนะนำ ไม่กล่าวร้ายชะตากรรมว่า เป็นของคนอื่น ฯลฯ เช่น พยายามทำกายภาพบำบัดให้ความแข็งแรงกลับคืนมา จะได้หายไวๆ ฯลฯ
ผู้เขียนสังเกตว่า คนไข้มะเร็ง คนไข้เบาหวานที่อาการแย่ลงไปเรื่อยๆ ฯลฯ ส่วนหนึ่งจะมองโลกในแง่ร้าย เช่น มักจะโทษว่า อาการที่เลวลงเป็นผลจากยา โทษพยาบาล โทษหมอแต่ไม่มองความประพฤติที่ไม่ดีของตัวเอง เช่น เป็นเบาหวาน แต่กินลำไยคราวละ 2-3 กิโลกรัม ฯลฯ
(7). Nurture a positive view of yourself = ทะนุถนอมมุมมองด้านบวก
พัฒนาตัวเองและใส่ใจสุขภาพ เพื่อให้ตัวเรามีศักยภาพสูงพร้อมรับวิกฤตเสมอ เช่น ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ นอนให้พอ กินอาหารครบทุกหมู่พอประมาณ เรียนรู้เรื่องใหม่อยู่เสมอ ฯลฯ
นอกจากนั้นควรฝึกทำอะไรดีๆ เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะการฝึกทำ “อะไรๆ” ให้ดีขึ้นคราวละเล็กละน้อย เช่น ถ้าเป็นคนขับรถก็ต้องเรียนรู้วิธีดูแลรักษารถ วิธีซ่อมรถ วิธีขับรถ ฯลฯ ให้ดีขึ้นทุกๆ วัน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ทุกวัน
ไม่ว่าจะทำงานอะไร…ควรถามตัวเองเสมอว่า วันนี้เราทำอะไรได้ดีกว่าเมื่อวานหรือเปล่า ปีนี้เราทำอะไรได้ดีกว่าปีก่อนๆ หรือเปล่า มีทางใดที่จะทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้อีกหรือไม่ แล้วเราจะเก่งขึ้น มั่นใจในตัวเองขึ้น พร้อมที่ฝ่าฟันวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ
(8). Keep things in perspective = ใช้มุมมองที่มีเหตุผล
มองโลกให้กว้างและไกลออกไป โดยใช้มุมมองที่มีเหตุผล โดยลองเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือว่า ถ้าวิกฤตครั้งนี้หนักที่สุดจะเป็นอย่างไร และตรงกันข้าม..ถ้าเบาที่สุดจะเป็นอย่างไร และหาทางผ่อนหนักให้กลายเป็นเบา
การฝึกทำงานอาสาสมัครส่วนใหญ่จะช่วยให้คนเรามองโลกกว้างขึ้น และพบเห็นคนอื่นที่ลำบากกว่าเราอีกเยอะแยะ
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเคยไปในเขตพายุนาร์กิสจะพบว่า หมู่บ้านบางแห่งมีคนก่อนพายุ 300 คน หลังพายุเหลือ 30 คน แถมบ้านยังพังเกือบหมด บ่อน้ำก็เต็มไปด้วยน้ำเค็ม ฯลฯ ยิ่งเห็นโลกมากขึ้นเท่าไร…ภัยพิบัติของเราก็จะดูเล็กลงไปเรื่อยๆ
ตรงกันข้ามถ้าวันๆ เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของเราคล้ายๆ กับการ “พายเรือในอ่าง”… น้ำในอ่างจะยิ่งใหญ่ (ในความคิดของเรา) ราวกับพายุถล่มโลกทีเดียว
ฝรั่งมีคำกล่าวว่า ในบรรดาการทำให้คน “เสียคน” ไม่มีอะไรจะเกินการตามใจเด็กอย่างไม่มีขอบเขต และเรียกเด็กที่ถูกตามใจคนเคยว่า เป็นพวก ‘spoiled child’ หรือเด็กที่ถูกทำลาย เนื่องจากเด็กที่ถูกตามใจมากๆ มักจะเสียคน เช่น โตขึ้นมาก็ติดยาเสพติด หรือกลายเป็นคนที่ “ไม่รู้จักพอ” ฯลฯ
9). Maintain a hopeful outlook = รักษาความหวังไว้
ไม่ว่าจะสูญเสียอะไรในชีวิต…สิ่งที่ควรรักษาไว้เสมอคือ “ความหวัง (hope)” เพราะคนที่ยังมีความหวังได้ชื่อว่า เป็นคนที่ยังมี “อนาคต”
ประสบการณ์ของคนที่รอดจากภัยพิบัติหนักๆ มาได้ ไม่ตายทั้งๆ ที่น่าจะตายตอบตรงกันว่า อยู่ได้เพราะความหวัง เช่น อยากจะกลับไปอยู่กับลูก อยากจะทำอะไรดีๆ ให้มากกว่านี้ ฯลฯ
10). Take care of yourself = ใส่ใจสุขภาพด้วย
ไม่ว่าวิกฤตจะใหญ่เท่าฟ้าหรือจะเล็กกว่าเส้นผม…สิ่งที่ไม่ควรลืมคือ อย่าลืมเอาใจใส่ตัวเองทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ เช่น กินอาหารสุขภาพพอประมาณ ออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ นอนให้พอ ฯลฯ
เรื่องที่ไม่ควรทำคือ อย่าทำร้ายตัวเองด้วยการอดข้าว การกินมากเกิน หรือการดื่มเหล้า ฯลฯ
ถ้าเครียดจนเกินไป…การปรึกษาหมอใกล้บ้านอาจจะช่วยได้ แต่ขออย่าทำตัวเป็นคนขี้บ่นมากเกิน เช่น คนไข้บางคนบ่นตั้งแต่รั้ว (บ่นกับ รปภ.) บ่นกับห้องบัตร บ่นกับพยาบาล บ่นกับหมอ…บ่นๆๆๆ จนหมอปวดหัว เขียนใบสั่งยาผิดพลาด หรือบ่นจนญาติพี่น้องหนีหายไปหมด (พบบ่อยในคนสูงอายุ) ฯลฯ
ไม่ว่าวิกฤตจะหนักเพียงไร…วิกฤตนั้นก็มาคู่กับโอกาสเสมอ ซึ่งก็เป็นธรรมดาของโลกที่ว่า ข่าวดีมักจะมาคู่กับข่าวร้าย และข่าวร้ายมักจะมาคู่กับข่าวดี จงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาศ
เราจะมองโลกในแง่ดีแบบท่านเติ้ง เสี่ยว ผิงก็ได้…ท่านกล่าวว่า “หลังพายุ…ท้องฟ้าจะแจ่มใส” หรือหลังวิกฤตมักจะมีโอกาสตามมา (มองโลกในแง่ดี)
หรือเราจะมองโลกในแง่ร้ายแบบนี้ก็ได้…”หลังพายุ…จะมีพายุลูกอื่นๆ ตามมา (อีกหลายลูก)”
ทว่า…ตอนนี้เสนอให้มองโลกในแง่ดีไว้ก่อน เพราะมองโลกแบบนี้น่าจะดี
ถึงตรงนี้…ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
บทความโดย: นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง (4 กุมภาพันธ์ 2552)(คลิก)
และ : APA Help Center > 10 ways to build resilience > [Click]
แนะนำบทความ 7 วิธีสู้วิกฤตเศรษฐกิจ