อย่าใช้เงินกู้ผิดประเภท
การกู้เงิน t

อย่าใช้เงินกู้ผิดประเภท

81 / 100

เงินกู้

อย่าใช้เงินกู้ผิดประเภท

ปัญหาหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในเรื่องการจัดการทางการเงินของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือผู้ประกอบการใหม่ จะเป็นธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจมาแล้ว คือเรื่องของการใช้เงินกู้ผิดประเภท

หากจะแบ่งประเภทของเงินกู้ก็จะสามารถแบ่งเงินกู้ออกได้เป็นหลายประเภท แต่ถ้ากล่าวในเรื่องของระยะเวลาหรือวัตถุประสงค์ของการใช้เงินจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

เงินกู้ระยะสั้น (Short-term Loans)

เงินกู้ระยะกลาง (Mid-term Loans)

เงินกู้ระยะยาว (Long-term Loans)

เงินกู้ระยะสั้น จะหมายถึงเงินกู้ที่มีระยะเวลาการกู้เงินและการชำระคืนน้อยกว่า 1 ปี โดยเงินกู้ระยะสั้นที่คุ้นเคยสำหรับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ จะได้แก่ วงเงินเบิกเกินบัญชี หรือที่เรียกกันติดปากว่า O/D (Overdraft) และตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า P/N (Promissory Note)ส่วนเงินกู้ระยะกลางจะมีระยะเวลาการกู้ตั้งแต่ 1-3 ปี หรืออาจเป็น 1-5 ปี ส่วนเงินกู้ระยะยาวจะประมาณตั้งแต่ 5 ปีหรือตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไป

ซึ่งเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาว จะเป็นลักษณะของเงินกู้ที่มีกำหนดจ่ายคืน (Term Loans) ทั้งที่อาจเป็นเงินกู้ธรรมดามีกำหนดเวลาจ่ายคืน (Ordinary Term Loans) หรือเงินกู้หมุนเวียน (Revolving Credits) แต่ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดของลักษณะเงินกู้ดังกล่าวไว้ในที่นี้ แต่ถ้าได้มีโอกาสได้เขียนถึงเรื่องของสินเชื่อหรือเรื่องของการกู้เงิน ก็จะได้กล่าวถึงในเรื่องดังกล่าวโดยละเอียดอีกครั้ง

วัตถุประสงค์ของเงินกู้ระยะสั้นจะใช้เพื่อการลงทุนระยะสั้น เช่น ค่าวัตถุดิบ ค่าแรงงานการผลิต ค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าใช้จ่ายบุคลากร รวมถึงเงินทุนหมุนเวียนอื่นๆ ส่วนเงินกู้ระยะกลางหรือระยะยาวก็จะใช้เพื่อการลงทุนของธุรกิจในระยะกลางหรือระยะยาว เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือการลงทุนในสินทรัพย์ของธุรกิจที่มีรอบระยะเวลาการสร้างรายได้นานกว่า 1 ปีขึ้นไป แล้วแต่ประเภทของสินทรัพย์หรือลักษณะการลงทุน

ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็คือ ธุรกิจหรือผู้ประกอบการมักใช้เงินกู้ผิดประเภทหรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ กล่าวคือใช้เงินกู้ระยะสั้นเพื่อการลงทุนระยะยาว หรือใช้เงินกู้ระยะยาวเพื่อการลงทุนในระยะสั้น

โดยคิดเพียงว่าเงินกู้ก็คือเงินกู้ จะกู้สั้นหรือกู้ยาวก็ต้องคืนธนาคาร และเงินกู้ที่ใช้ก็นำไปใช้ในธุรกิจ ดังนั้นไม่น่าที่จะมีปัญหาใดถ้าธุรกิจสามารถชำระคืนธนาคารได้ หรือจากความรู้สึกว่าไม่สะดวกที่จะไปดำเนินการติดต่อธนาคารเพื่อขอใช้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม เนื่องจากอาจไม่มีหลักประกันเพิ่ม หรือไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น ค่าทำสัญญา ค่าจำนอง รวมถึงธุรกิจเองอาจมีวงเงินกู้คงเหลืออยู่ เช่น มีวงเงิน O/D ที่ยังใช้ไม่เต็มจำนวนตามที่ธนาคารอนุมัติ หรือมีวงเงินกู้ระยะยาวที่ยังใช้ไม่เต็มจำนวนหรือยังไม่มีการเบิกมาเพื่อการลงทุน ทำให้ธุรกิจหรือผู้ประกอบการคิดว่ามีความสะดวกกว่า ในการที่จะนำวงเงินกู้ในส่วนดังกล่าวมาลงทุนในสิ่งที่ต้องการ

ตัวอย่างเช่น นำเงินกู้ในส่วนที่เป็น O/D มาลงทุนซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อขยายกิจการปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือวงเงิน O/D ที่มีอยู่เดิมนั้นเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการผลิต และเงินทุนหมุนเวียนตามประมาณกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิม แต่เมื่อมีเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากวงเงิน O/D ที่มีอยู่เดิมจะไม่เพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิตจากการลงทุนใหม่แล้ว แต่กลับลดลงเพราะบางส่วนถูกใช้ไปลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาวคือเครื่องจักรใหม่ ทำให้ธุรกิจประสบปัญหาคือการขาดเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตสินค้า แม้ว่าในช่วงแรกจะสามารถดึงเงินสดคงเหลือในธุรกิจ หรือใช้การยืมเงินจากกรรมการหรือผู้ถือหุ้นมาเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ในช่วงแรก แต่ในระยะยาวแล้วธุรกิจก็จะประสบปัญหาในที่สุด

และมักจะพบว่าธุรกิจที่ดำเนินการในลักษณะนี้ มีการใช้วงเงินกู้ระยะสั้น O/D เต็มจำนวน หรือที่เรียกว่า ติดตัวแดงอยู่ตลอดเวลา โดยไม่สามารถนำรายได้จากการขายสินค้ามาชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องนำรายได้ไปใช้ในการหมุนเวียนธุรกิจ หรือชำระคืนเงินจากกรรมการหรือผู้ถือหุ้นที่นำมาลงทุนในการผลิตสินค้า หรือในอีกกรณีหนึ่งในทางกลับกัน ธุรกิจได้นำเงินกู้ระยะยาวที่ใช้ในการลงทุนในส่วนอาคารเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งอาจเหลือวงเงินในการลงทุนนำมาลงทุนระยะสั้น เช่น ค่าวัตถุดิบ หรือค่าใช้จ่ายในการผลิต ธุรกิจก็จะเกิดต้นทุนส่วนเกินขึ้น คือดอกเบี้ยจ่ายที่ธุรกิจต้องจ่ายออกไปในแต่ละรอบระยะเวลา เนื่องจากโดยปกติเงินกู้ระยะกลางหรือระยะยาว จะถูกคำนวณเพื่อหายอดชำระคืนเงินต้นและเงินกู้ที่มักจะเป็นรอบระยะเวลาที่สม่ำเสมอ ซึ่งโดยปกติคือต้องชำระคืนทุกเดือน ทำให้การชำระคืนอาจไม่มีความสัมพันธ์กับรอบระยะเวลาในการสร้างรายได้ของธุรกิจ และถ้าคำนวณถึงต้นทุนทางการเงินแล้ว ธุรกิจจะมีต้นทุนแพงกว่าอันมาจากส่วนเกินของดอกเบี้ยจ่ายในแต่ละงวดนั่นเอง

และสิ่งที่พบก็คือธุรกิจที่ดำเนินการในลักษณะนี้จะไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชีของเงินกู้ระยะสั้น หรือใช้วงเงินกู้ระยะสั้นเช่น O/D เพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับวงเงินกู้ที่ทางธนาคารอนุมัติให้กับธุรกิจ

ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจโดยทั่วไปมักจะอยู่ในด้านของ  การใช้เงินกู้ระยะสั้นในการลงทุนระยะยาว เพราะจะส่งผลให้เกิดปัญหา การขาดเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นปัญหาพื้นฐานของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ไม่เข้าใจในการบริหารจัดการทางการเงิน ส่วนการใช้เงินกู้ระยะยาวในการลงทุนระยะสั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรงเท่าการใช้เงินกู้ระยะสั้นในการลงทุนระยะยาว แต่จะส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนสูงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีผลกำไรน้อยกว่าที่ธุรกิจควรจะได้รับ

แต่อย่างไรทั้งสองกรณีเป็นสิ่งที่ธุรกิจหรือผู้ประกอบการ ควรหลีกเลี่ยงมิให้เกิดขึ้นกับธุรกิจ เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วกว่าที่จะติดต่อกับทางธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมให้เพียงพอกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการพิจารณาจากธนาคาร รวมถึงอาจต้องต้องมีการหาหลักประกันเพิ่มเพื่อค้ำประกันวงเงินสินเชื่อใหม่นี้ อีกทั้งก็ไม่แน่ว่าธุรกิจจะได้รับการอนุมัติเงินกู้จากทางธนาคาร เพราะการใช้เงินกู้ผิดประเภทของธุรกิจ ย่อมแสดงว่าธุรกิจขาดประสิทธิภาพในการวางแผนและการบริหารจัดการทางการเงิน อีกทั้งส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจนผู้ประกอบการจำเป็นต้องไปติดต่อกับธนาคารนั้น มักพบว่าธุรกิจประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เช่น ขาดเงินสดในการผลิตสินค้า หรือดำเนินธุรกิจ

รวมถึงกรรมการหรือผู้ถือหุ้นไม่สามารถหาเงินมาลงในส่วนของเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจได้อีก โดยเมื่อธนาคารพิจารณาจากงบการเงินของธุรกิจ ก็มักจะพบรายการเงินกู้ยืมกรรมการในส่วนหนี้สิน จึงอาจพิจารณาว่าธุรกิจมีความเสี่ยงในการใช้เงินกู้ใหม่ เนื่องจากแทนที่จะนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรือใช้ในการดำเนินธุรกิจจากปัญหาที่เกิดขึ้น ธุรกิจหรือตัวผู้ประกอบการจะนำเงินกู้ที่ได้รับ ไปชำระคืนกรรมการหรือผู้ถือหุ้นที่สำรองจ่ายให้กับธุรกิจก่อน โดยมิได้นำเงินไปใช้ในธุรกิจจริง ซึ่งที่มาของปัญหาดังกล่าวหรือสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก็มาจากการที่ผู้ประกอบการไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์นั่นเอง

ดังนั้นธุรกิจหรือตัวผู้ประกอบการควรจะต้องมีการวางแผนทางการเงินอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ หรือต้องมีการดำเนินการติดต่อกับธนาคารเพื่อขอวงเงินสินเชื่อ โดยถ้าต้องมีส่วนของเงินกู้ในการลงทุนจะต้องกำหนดและคาดคะเนส่วนของการลงทุนและวงเงินกู้ระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็น O/D หรือ P/N ก็ตาม พร้อมทั้งต้องประมาณการเกี่ยวกับกระแสเงินเข้าออก เพื่อกำหนดการใช้วงเงินกู้และการชำระคืนให้มีรอบระยะเวลาและวงเงินที่สัมพันธ์กัน และในส่วนของการลงทุนระยะกลางหรือระยะยาว ก็ควรเลือกใช้วงเงินกู้ระยะกลางหรือระยะยาวตามลักษณะการลงทุนนั้น พร้อมทั้งประมาณการและคำนวณเกี่ยวกับการชำระคืนเงินกู้ ในส่วนที่เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยจ่ายซึ่งต้องชำระเป็นเงินสด ให้เพียงพอและเหมาะสมกับกระแสรายรับรายจ่ายของธุรกิจ

และผู้ประกอบการจะต้องมีวินัยในการใช้เงินและการชำระคืนเงินกู้ให้ตรงตามเงื่อนไขของวงเงินกู้ ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว โดยอย่าใช้เงินกู้ผิดประเภทจากลักษณะวงเงิน เพราะจะเป็นสิ่งที่ยากต่อการดำเนินการแก้ไขถ้าเกิดปัญหาขึ้น

และสำหรับธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาอยู่จากการใช้เงินกู้ผิดประเภท ควรรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนโดยการติดต่อกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพื่อเจรจาขอปรับสัญญาหรือโครงสร้างเงินกู้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์และการใช้เงินกู้ในการลงทุน ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามและยากต่อการแก้ไขจากการใช้เงินกู้ผิดประเภท

ขอบคุณบทความดีดีโดย : คุณรัชกฤช คล่องพยาบาล ที่ปรึกษา ส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์บิซิเนสไทย (7-6-2007)

แนะนำบทความ  10 สาเหตุที่ทำให้กู้เงินไม่ได้

คลิกดู     โรงพิมพ์ JR

โรงพิมพ์ เจอาร์

+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0