สัมภาษณ์พนักงาน
บริหารบุคคล t

10 สุดยอดคำถามที่ใช้สัมภาษณ์พนักงาน

90 / 100

สัมภาษณ์พนักงาน

10 สุดยอดคำถามที่ควรใช้ในการสัมภาษณ์พนักงาน

การคัดเลือกพนักงานเข้าร่วมงานในบริษัทถือเป็นสิ่งสำคัญมากในองค์กรที่ต้องการความเจริญก้าวหน้า  ไม่ว่าจะเป็นการรับพนักงานใหม่เพื่อการขยับขยายบริษัทหรือแทนที่พนักงานเดิมที่ออกไป การตั้งคำถามเพื่อสอบถามผู้สมัครงานมีส่วนช่วยในเรื่องนี้อย่างมาก ทั้งในเรื่องการได้รับทราบข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นอันเกี่ยวข้องกับตัวผู้สมัครเอง หรือทางด้านจิตวิทยาที่บ่งบอกถึงความคิดและบุคลิกภาพ

การตั้งคำถามที่เจาะลึกลงไปจะสามารถให้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับคุณสมบัติที่บริษัทต้องการได้

ในหลายครั้งบางบริษัทจงใจที่จะตั้งคำถามในลักษณะทางจิตวิทยาเพื่อทดสอบด้าน emotional quotient (e.q.) ซึ่งคือการทดสอบด้านอารมณ์ของผู้สมัคร บางครั้งตัวผู้ทำการสัมภาษณ์เองอาจใส่อารมณ์ของตัวเองลงไปในคำถามในระดับหนึ่งด้วยเพื่อดูว่าตัวผู้สมัครสามารถทนรับความกดดันได้ดีขนาดไหน เพราะตำแหน่งงานบางประเภทต้องสามารถทนรับแรงกดดันได้เป็นอย่างดีด้วย อาทิ ตำแหน่งงานในบริษัทโฆษณาซึ่งต้องนำเสนองานต่อลูกค้าเป็นประจำ ตำแหน่งงานในธุรกิจสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารซึ่งต้องทำงานแข่งขันกับเวลาอยู่โดยตลอดในเรื่องการเร่งปิดต้นฉบับ นอกจากนี้การเลือกตั้งคำถามคัดคนเข้าทำงานที่ดีควรถามเจาะลึกลงไปในส่วนที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับความต้องการของบริษัทเราเองด้วย เพราะการตั้งคำถามคัดคนเข้าทำงานที่เป็นพื้นฐานทั่วไปแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถให้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติที่บริษัทเราต้องการได้

เราได้รวบรวม 10 สุดยอดคำถามที่ควรใช้ในการสัมภาษณ์พนักงานมาให้ได้เลือกใช้ ประกอบไปด้วยคำถามพื้นฐาน คำถามเชิงจิตวิยา และคำถามเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับลักษณะพนักงาน

1. แนะนำตัวเอง

การให้แนะนำตัวทำให้ได้ทำความรู้จักกับตัวผู้สมัครและยังถือเป็นการให้เกียรติผู้สมัครด้วย

คำถามนี้เป็นคำถามสัมภาษณ์งานพื้นฐานทั่วไปที่เราควรถามกับผู้สมัครเพื่อจะได้ทำความรู้จักกับตัวผู้สมัคร อีกทั้งยังถือเป็นการให้เกียรติและความเคารพผู้สมัครอีกด้วย แต่บางครั้งเราสามารถกำหนดเวลาลงไปในคำถามนี้ได้ เช่น กรุณาแนะนำตัวหรือพูดเกี่ยวกับตัวเองภายในเวลา 2 นาทีหรือ 10 นาที หรือเท่าไรก็แล้วแต่เราจะกำหนด ถือเป็นการใช้จิตวิทยาเบื้องต้นแบบอ่อนๆ เพื่อทดสอบว่าผู้สมัครสามารถจัดการกับเวลาที่กำหนดให้ได้หรือไม่ แต่ก็ไม่ควรจะซีเรียสเรื่องเวลาที่ให้มากนัก และควรไม่นำผลนี้มาใช้วัดว่าจะรับหรือไม่รับด้วย 

2. ทำไมจึงอยากทำงานที่นี่

คำถามคัดคนเข้าทำงานรูปแบบนี้มีไว้เพื่อทดสอบทัศนคติที่มีต่อบริษัท ว่าเพราะเหตุใดผู้สมัครถึงสนใจอยากร่วมทำงานกับบริษัทของเรา และยังได้ข้อมูลเรื่องมุมมองของบุคคลภายนอกที่มีต่อบริษัทอีกด้วย ถือเป็นคำถามพื้นฐานทั่วไปเลยทีเดียว

3. เคยมีประสบการณ์งานด้านนี้หรือไม่

คำถามนี้จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทของเรามากที่สุด เพราะเราจะสามารถวิเคราะห์ความทักษะความสามรถของผู้สมัครได้ดีขึ้นจากประสบการณ์และงานที่เคยทำมา มีส่วนช่วยในพิจารณารับเข้าทำงานง่ายขึ้น 

4. ทำไมถึงออกจากงานเดิม

คำถามสัมภาษณ์งานนี้มีเพื่อให้ได้ทราบว่าผู้สมัครมีปัญหากับงานเดิมอย่างไรหรือ เหตุใดจึงอยากเปลี่ยนงาน เช่น ที่ทำงานเดิมอาจอยู่ไกลจากบ้าน หรือผู้สมัครอยากหาประสบการณ์ท้าทายใหม่ๆ และคำถามนี้ยังช่วยให้ได้ทราบถึงปัญหาของบริษัทอื่น แต่พึงระวังไว้ด้วยว่าผู้สมัครงานที่ตำหนิบริษัทเก่าของตัวเองก็อาจตำหนิบริษัทของเราให้บริษัทอื่นฟังในอนาคตเมื่อเขาต้องการออกจากบริษัทของเรา ขอให้คำถามนี้มีส่วนในการตัดสินใจคัดเลือกพนักงานใหม่ด้วย และคำถามคัดคนเข้าทำงานรูปแบบนี้แสดงถึงระดับความคิดอ่านของตัวบุคคลที่มีต่อสิ่งรอบข้างและกาลเทศะต่างๆ 

สัมภาษณ์พนักงาน

5. จบไม่ตรงสาขาแล้วจะทำงานได้อย่างไร (สำหรับผู้สมัครที่จบไม่ตรงสาขา)ควรพิจารณาจากสาขาที่จบและคำตอบข้ออื่นๆ ของผู้สมัครควบคู่กันไป 

เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวผู้สมัครว่าจะสามารถทำงานในตำแหน่งนี้ได้หรือไม่ และเหตุผลว่าเพราะอะไรเขาหรือเธอจึงสามารถทำได้ เราควรพิจารณาจากสาขาที่จบ ประสบการณ์การทำงาน และคำตอบอื่นๆ ของผู้สมัครควบคู่กันไป เพราะหากเรารับเข้าทำงานอาจต้องสอนการทำงานตั้งแต่ต้นใหม่ แต่อาจมีข้อดีก็ได้ เพราะบุคลากรคนนั้นๆ อาจมีความคิดใหม่ๆ และมุมมองที่แตกต่างไปจากพวกที่จบตรงสาขาก็เป็นได้

6. คุณจะพอใจหรือไม่ที่ได้ทำงานที่นี่

แน่นอนว่านี่เป็นคำถามจิตวิทยาที่ใช้คัดคนเข้าทำงาน เพราะทุกคนที่มาสมัครงานและมาตามนัดเพื่อรับการสัมภาษณ์ต้องอยากได้งานกันทุกคนอยู่แล้ว แต่ที่ต้องถามก็เพื่อวัดใจผู้มาสมัครว่าจะพูดถึงเกี่ยวกับบริษัทได้มากขนาดไหน และเป็นโอกาสให้ได้ดูทักษะและศิลปะในการพูดด้วยว่ามีความพอดีหรือเกินกว่าความเป็นจริงพื้นฐานหรือไม่ 

7. เพื่อนร่วมงานชอบพูดถึงคุณว่าอย่างไร

เป็นอีกหนึ่งคำถามทางจิตวิทยาที่เผยให้รู้ถึงลักษณะเด่นของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์จากคำบอกเล่าของเพื่อนร่วมงานที่มีต่อตัวผู้สัมภาษณ์ แต่คำถามข้อนี้ไม่ควรนำมาเป็นเกณฑ์ตัดสินมากนัก เพราะคำตอบอาจเป็นความจริงหรืออาจไม่จริงก็ได้ เพราะเราก็ไม่อาจตรวจสอบได้

8. มีทักษะทางคอมพิวเตอร์ และพูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้หรือไม่

 คำถามคัดคนเข้าทำงานข้อนี้เป็นส่วนสำคัญมาก การมีทักษะดังที่กล่าวมาจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ตอบว่าไม่มี แต่พร้อมที่จะเรียนรู้ เราก็ควรถามต่อว่าจะเรียนที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ แล้วนำมาพิจารณาด้วยว่าควรให้โอกาสคนที่มีความพยายามหรือไม่ คำถามข้อนี้มีความเป็นจิตวิทยาอยู่นิดหน่อย แต่ก็ยังแฝงการขอข้อมูลพื้นฐานอยู่ในที

 9. ต้องการเงินเดือนเท่าไร

 เพราะคำตอบข้อนี้จะกลายเป็นข้อมูลส่วนสำคัญที่บริษัทต้องการทราบเพื่อนำมาพิจารณาว่าจะจ้างหรือไม่จ้างเข้าทำงาน อีกทั้งต้องนำไปพิจารณาดูว่าจำนวนเงินเดือนที่ต้องการนั้นสอดคล้องกับประสบการณ์และหลักมาตรฐานภายในของบริษัทอย่างเพดานเงินเดือนหรือไม่

 10. มีคำถามจะถามอะไรไหม

คำถามนี้ส่วนหนึ่งเป็นคำถามเชิงจิตวิทยา หากผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ตอบว่ามี จะแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ได้ทำการบ้านมาอย่างดี มีการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทแล้วถึงสามารถตั้งคำถามได้ และยังเป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจในกิจการของบริษัทด้วย อีกทั้งยังแสดงถึงความมั่นใจกล้าคิดกล้าพูดของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์อีกด้วย

ควรสังเกตบุคลิกภาพของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ควบคู่กันไปด้วย และระวังอย่าใส่อารมณ์ในการสัมภาษณ์มากจนเกินไป 

 

  จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าการตั้งคำถามสัมภาษณ์ผู้สมัครที่ดีนั้นมีความสำคัญมากขนาดไหน เราควรตั้งคำถามที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทและหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตัวงานเท่านั้น อย่าตั้งคำถามที่เจาะลึกถึงความเป็นส่วนตัวมากเกินไปนัก และควรสังเกตบุคลิกภาพของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ควบคู่กันไปด้วย ที่สำคัญอย่าใส่อารมณ์ในการสัมภาษณ์มากจนเกินไป เพราะการสัมภาษณ์งานยังถือเป็นการประชาสัมพันธ์บริษัทสู่ภายนอกว่ามีระบบการทำงานดีแค่ไหนและให้ความเคารพในตัวบุคคลขนาดไหน เพราะเราไม่อาจแน่ใจว่าผู้เข้ารับการสัมภาษณ์จะเก็บเรื่องการสัมภาษณ์เป็นความลับตลอดไปหรอก ดังนั้นหากเราตั้งคำถามไม่ดี ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ใส่อารมณ์ในการสัมภาษณ์ ไม่เคารพและให้เกียรติผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ ก็อาจทำให้บริษัทมีภาพลักษณ์ด้านลบได้

 

 ขอบคุณข้อมูลจาก  : www.incquity.com

แนะนำบทความ   5 เทคนิคประกาศรับสมัครงาน

คลิกดู โรงพิมพ์ JR

โรงพิมพ์ เจอาร์

+1
1
+1
1
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0