10 กลยุทธ์ เมื่อถูกสรรพากรตรวจสอบประเมินภาษี
จากประสบการณ์ของผู้เขียน โดยทั่วไปถ้าหากผู้ประกอบการดำเนินการถูกต้อง โอกาสจะถูกตรวจสอบหรือถูกประเมินภาษีอากรก็เกิดขึ้นได้ยาก แต่ในความเป็นจริงสถานะการเงินการคลังของประเทศก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรมสรรพากรมุ่งจะตรวจสอบผู้ประกอบการที่ประกอบถูกต้อง เพราะอาจพบ
ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมพร้อม เพราะแม้หากจะมีการตรวจสอบหรือประเมินภาษีอากรแล้ว ผู้ประกอบการก็สามารถเจรจากับเจ้าพนักงานได้ และหากถูกประเมินก็สามารถอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ หรือต่อศาล เพื่อให้คำอุทธรณ์ของตนได้รับชัยชนะถึงที่สุด
กลยุทธ์ 10 ประการที่ผู้เขียนขอให้พิจารณามีดังนี้
1.ผู้ประกอบการควรจะจัดทำบัญชี รวมทั้งการยื่นแบบเสียภาษีให้ถูกต้อง โดยจะต้องดูให้ถูกต้อง อย่าให้มีข้อผิดพลาด เพราะการยื่นแบบหรือการทำบัญชีที่ผิดพลาดนั้น จะเป็นจุดหนึ่งที่จะทำให้เจ้าหน้าที่สงสัยและเริ่มให้มีการตรวจสอบผู้เสียภาษีอากรนั้นเสียภาษีถูกต้องหรือไม่
อาทิเช่น ในกรณีที่เป็นบริษัทต้องดูว่าแบบที่ยื่นโดยเฉพาะการหักค่าใช้จ่ายนั้น ไม่ควรจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องห้ามหรือมีปัญหา ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องดูว่า ค่าใช้จ่ายที่หักนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด การทำบัญชีหรือยื่นแบบควรเป็นหน้าที่ของ นักบัญชี และนักกฎหมาย ผู้มีความชำนาญในเรื่องภาษีอากรโดยเฉพาะ
2.หากจะต้องมีการขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือภาษีซื้อของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ผู้ประกอบการต้องมั่นใจว่า จำนวนเงินที่ขอคืนภาษีกับผลกระทบที่อาจจะได้รับในการตรวจสอบภาษีนั้นจะคุ้มกัน เพราะมิฉะนั้นแล้วหากการขอคืนภาษี กรมสรรพากรก็อาจจะมีการตรวจสอบบัญชีของผู้ประกอบการและอาจจะพบว่าผู้เสียภาษีเสียภาษีไม่ถูกต้องในหลายรายการ จึงควรจะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก และปัจจุบันกรมสรรพากรก็ได้ระบุในแบบยื่นเสียภาษีให้บริษัทขอคืนภาษีเลยเพื่อสะดวกในการตรวจสอบ
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเสียภาษีให้ถูกต้องเพราะอาจถูกตรวจสอบจากการขอคืน
3.เมื่อมีหมายเรียกตรวจสอบภาษีมา ควรต้องพิจารณาดูว่า หมายเรียกหรือหนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากรหรือการประเมินนั้นถูกส่งโดยชอบด้วยหรือไม่ มีผู้ลงนามโดยชอบด้วยหรือไม่
เพราะกฎหมายบังคับให้ส่งโดยลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานไปส่งในเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกในเวลาทำงาน หรือจะส่งให้แก่บุคคลใดที่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะก็ได้ และตามกฎหมายนั้นถ้าหากส่งไม่ได้นั้น กรมสรรพากรมีอำนาจที่จะใช้วิธีปิด เพราะฉะนั้น การถือว่าได้รับหรือไม่ได้รับนั้นจึงมีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากว่ามีส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับระยะเวลาการอุทธรณ์และการดำเนินคดีด้วย
4.ผู้ประกอบการหรือผู้ได้รับหมายเรียกต้องให้ความร่วมมือกับ เจ้าหน้าที่ โดยอาจขอเวลาจัดเตรียมเอกสารและให้ความร่วมมือในการให้ข้อเท็จจริงและปากคำอย่างเต็มที่
โดยจัดส่งเอกสารพร้อมเก็บหลักฐานในการนำส่งเอกสารต่อเจ้าพนักงานที่ออกหมายเรียก รวมทั้งคำให้การทั้งหมดโดยต้องปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำเอกสารนั้นๆ เพราะว่าข้อเท็จจริงนี้จะมีส่วนสำคัญยิ่ง
ถ้าหากมีการประเมินภาษี ผู้ถูกประเมินจะได้นำข้อต่อสู้ดังกล่าวนั้นมาใช้ในการอุทธรณ์ ทั้งในชั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และชั้นศาล ข้อสำคัญคือ หากไม่ให้ความร่วมมือ และจะถูกประเมินภาษีแล้วก็อาจจะต้องห้ามไม่ให้อุทธรณ์ตามกฎหมายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ยอมตอบข้อคำถามหรือว่าซักถาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย โดยคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน
5.โดยปกตินั้น ตามกฎหมายเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจที่จะออกหมายเรียกการประเมินได้นั้น จะต้องกระทำภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ยื่นรายการ แต่ไม่เกิน 7 ปี
ถ้าหากปรากฏว่ามีการสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายการออกหมายเรียกได้เกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ยื่นรายการ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องสำคัญมากว่า หมายที่ออกนั้น ชอบหรือไม่ และจะต้องเป็นเรื่องที่ให้แน่ใจว่าผู้ประกอบการใดยื่นแบบนั้นจะต้องยื่นภายในที่กำหนด
เพราะว่าหากเลย 2 ปีแล้ว การออกหมายย่อมไม่ชอบ เว้นแต่กรมสรรพากรจะเห็นว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร
6.เมื่อได้รับหมายเรียกหรือหมายประเมินนั้น ควรจะปรึกษากับทนายความผู้รู้หรือนักบัญชีในการที่จะเตรียมตัวไปให้ถ้อยคำ
จัดเตรียมเอกสาร เพื่อให้มั่นใจว่าการให้ถ้อยคำนั้นจะได้ไม่เป็นปฏิปักษ์ หรือมีผลเสียหายต่อคดีของตน ถ้าหากจะต้องดำเนินคดีในทางการอุทธรณ์หรือในชั้นศาลต่อไป รวมทั้งอาจมีการเจรจาประนีประนอมยอมความในชั้นออกหมายเรียกก็ได้ เช่น การให้ลดภาษี หรือยกเว้น หรือลดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
7.เมื่อได้รับหมายประเมินภาษีควรจะต้องให้แน่ว่ารับหมายเมื่อไร เพราะกฎหมายกำหนดว่าโดยจะต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน
หากต้องการอุทธรณ์ โดยการที่ระหว่างอุทธรณ์นั้นจะต้องปรึกษาทนายความหรือนักบัญชีอย่างรอบคอบในการเตรียมคำอุทธรณ์ และยื่นคำอุทธรณ์ให้การอุทธรณ์นั้นจะต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินหรือเรียกเก็บเงิน โดยจะต้องทำตามแบบและยื่นให้ถูก เช่น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่กรมสรรพากร หรือที่สรรพากรจังหวัด
8. ผู้ประกอบการอาจจะต้องอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากร หรือศาลจังหวัด
ในกรณีที่การวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งปกติแล้วส่วนใหญ่มักจะใช้เวลานานมาก ผู้ประกอบการอาจจะต้องอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากร หรือศาลจังหวัด ในกรณีที่ศาลภาษีอากรไม่มีเขตอำนาจภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบวันที่ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ แน่นอนที่สุดการที่จะพิจารณาว่าควรอุทธรณ์หรือไม่นั้น ผู้ประกอบการต้องพิจารณาให้ดีว่าคุ้มค่าหรือไม่
9.ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ไม่ว่าในชั้นของคณะกรรมการอุทธรณ์หรือในชั้นศาลก็ดี จะต้องมีการชำระภาษีโดยการวางประกันหนังสือค้ำประกันของธนาคารไปก่อน
เพราะว่าการอุทธรณ์นั้นไม่เป็นเหตุให้มีการทุเลาการเสียภาษีอากร หากปล่อยไว้อาจถูกยึดทรัพย์สินมาชำระหนี้ภาษีอากรได้
10.การดำเนินธุรกิจ หลักฐานทั้งทางบัญชี การให้ถ้อยคำ และการอุทธรณ์
ไม่ว่าในชั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือชั้นศาลต้องสอดคล้องกัน และอยู่บนบรรทัดฐานของความเป็นจริง และพร้อมต่อการถูกตรวจสอบตลอดเวลา
หากผู้ประกอบการทำสิ่งใดอยู่บนพื้นฐานแห่งความถูกต้องนี้แล้ว การถูกประเมินก็ย่อมน้อยลง หรือหากมีการประเมิน การต่อสู้คดีก็ง่ายขึ้น และทำให้โอกาสชนะคดีมีสูงขึ้นเช่นกัน
กลยุทธ์ 10 ประการข้างต้นคงจะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการและ ผู้วางแผนภาษีลดความเสี่ยงในการถูกประเมินภาษีลงได้ หาก ผู้ประกอบการคิดที่จะวางแผนภาษีก็คงจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้พร้อมกับการถูกหมายเรียกและประเมิน
แต่หากท่านเตรียมตัวให้พร้อม ก็ย่อมจะยิ้มได้เมื่อภัยมาเสมอ
ขอบคุณบทความดีดีจาก : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 สิงหาคม 2551
คลิกเพื่อดู โรงพิมพ์ JR