ค้าขายทางอินเตอร์เน็ทกับการเสียภาษีอย่างถูกต้อง
ปัจจุบันหลายคนเริ่มหันมาค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ การค้าขายผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือแม้แต่อินสตาแกรม (Instagram) หลายคนสามารถสร้างรายได้ได้เดือนหนึ่งๆ หลายหมื่น หรือหลายแสนบาทกันเลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่คนไทยหันมาใช้เทคโนโลยีเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้ตัวเอง หรือองค์กรมากขึ้น
แต่มีหลายคนยังไม่รู้ว่า “เมื่อไรก็ตามที่มีรายได้เกิดขึ้น ก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีให้รัฐ“
ดังนั้น การขายสินค้าไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหนๆ ก็ตาม ถือว่าคุณมีรายได้ เช่น คุณเปิดแผงร้านขายเสื้อในตลาดนัด, เปิดร้านขายของภายในห้าง หรือแม้แต่การเปิดเว็บไซต์ขายสินค้า หรือช่องทางอะไรก็ตามที่คุณสร้างรายได้ คุณมีหน้าที่ต้องเสียภาษี
การค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทำแล้วต้องเสียภาษี จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ว่าหลายคนยังไม่ทราบ และไม่เข้าใจกัน บางส่วนอาจเข้าใจผิดว่า กรมสรรพากรเองจะออกมาตรการการเก็บภาษีเฉพาะคนทำการค้าออนไลน์ขึ้นมา
ผมขอบอกเลยครับว่า กรมสรรพากรไม่มีมาตรการอะไรใหม่ขึ้นมาสำหรับการค้าทางออนไลน์
ผู้ค้าขายต้องเสียภาษีอะไรบ้าง
ผู้ที่ค้าขายไม่ว่าจะช่องทางไหน หรือผ่านช่องทางออนไลน์ต้องเสียภาษีภายใต้ประมวลกฎหมายรัษฎากรเหมือนธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น
1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับทุกธุรกิจ รวมถึงการค้าขายผ่านออนไลน์ด้วย ดังนั้นเมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อเข้ามาเจ้าของเว็บไซต์ต้องเสียภาษีเงินได้ และเมื่อสินค้าส่งออกไปให้ลูกค้า ลูกค้าที่สั่งซื้อก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หากมีรายรับจากการขายสินค้า หรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี คุณมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขาย หักด้วยภาษีซื้อ
ดังนั้น เมื่อขายสินค้า หรือบริการ คุณต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบด้วยว่ามีภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ด้วย คุณจะรวมเข้าไป หรือแยกออกมาต่างหากก็แล้วแต่วิธีการของแต่ละคน และการซื้อขายสินค้าแต่ละครั้งจะออกใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อด้วย
ขณะที่ หากรายรับจากการขายสินค้า หรือบริการต่ำกว่า 1.8 ล้านต่อปี คุณก็ไม่ต้องไปยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้คุณไม่ต้องไปคิดภาษีเพิ่มกับลูกค้านะครับ
หากคุณค้าขายและจัดส่งสินค้าไปให้ลูกค้าที่ต่างประเทศผ่านทางไปรษณีย์จะได้สิทธิไม่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าผู้ประกอบการไม่มีหลักฐานการส่งสินค้าโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร จะไม่ได้สิทธิการไม่จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แทน ดังนั้นหากผู้ประกอบการปฏิบัติตามขั้นตอนของการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศโดยผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกวิธี สามารถลดต้นทุนจากการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (ลองปรึกษาไปรษณีย์ฯ ใกล้บ้านคุณ)
จะอย่างไรก็ต้องเสียภาษีเงินได้
หากท่านทำการค้าไม่ว่า จะช่องทางไหนก็ต้องมีหน้าที่ในการเสียภาษีเงินได้ แต่อาจจะแตกต่างกันระหว่างการเสียภาษีบุคคลธรรมดา (ชาวบ้านอย่างเราๆ) และภาษีนิติบุคคล (ในรูปแบบของบริษัท)
ดังนั้นเมื่อถึงเวลาสิ้นปี คุณก็ต้องนำรายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้นไปแสดง และยื่นภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากรว่า มีเงินได้อะไรบ้าง และจะเห็นว่า สรรพากรเริ่มให้ความสำคัญบุคคลธรรมดาที่ค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ตแล้ว จะเห็นได้จากแบบฟอร์มยื่นเสียภาษีในปี เริ่มให้ระบุชื่อเว็บไซต์ของคุณเข้าไปด้วยตอนยื่นแบบเช่นกัน
ต้องบอกก่อนเลยว่า ผมไม่ได้ถูกกรมสรรพากรบังคับให้มาเขียนบทความนี้นะครับ เพียงแต่ผมเห็นว่า ตอนนี้หลายๆ คนยังเข้าใจผิดเรื่องนี้อยู่ และในฐานะคนไทย เราควรเข้าใจ และทำเรื่องนี้ให้ถูกต้อง เพราะหากคุณทำการค้า และไม่เข้าใจเรื่องภาษี หากเกิดการตรวจสอบขึ้น อาจจะเป็นผลเสียต่อคุณอย่างมากได้เช่นกัน
ขอบคุณบทความดีดีโดย : คุณ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ – เจ้าของเว็บไซต์ www.tarad.com
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 19 เมษายน 2555
คลิกเพื่อดู โรงพิมพ์ JR