อาการปวดข้อมือ ระวังให้ดี ! สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม !
อาชีพที่ต้องทำงานในออฟฟิศนั้น คงเป็นอาชีพที่ใครหลายคนใฝ่ฝัน เพราะการได้นั่งทำงานในห้องแอร์เย็น ๆ กับการใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานนั้น ดูจะเป็นไลฟ์สไตล์ของการทำงานที่ง่าย และสะดวกสบาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การนั่งทำงานตรงหน้าจอคอมพิวเตอร์กว่า 8 – 10 ชั่วโมงในแต่ละวันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไรนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดอาการปวดเมื่อยตามข้อมือขึ้น หลายคนมองว่าเป็นเรื่องปกติของคนที่นั่งทำงานท่าเดิมนาน ๆ แต่ใครจะรู้ว่าอาการปวดข้อมือเหล่านี้ อาจเป็นระยะแรกของโรคที่มีชื่อว่า Carpal Tunnel Syndrome : CTS หรือภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความเจ็บปวดที่ข้อมือของผู้ป่วยเท่านั้น แต่มันยังนำมาซึ่งอาการแทรกซ้อนทางร่างกายอีกหลายอย่าง
ภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียน (Carpal Tunnel Syndrome : CTS ) คืออะไร ?
สำหรับความหมายของโรคที่ชื่อยาวอย่าง ภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียนนั้น คือ การกดรัดที่เกิดขึ้นบนเส้นประสาทมีเดียน ซึ่งเป็นเส้นประสาทที่อยู่ส่วนใต้เส้นเอ็นของกระดูกข้อมือ โดยจะอยู่ที่บริเวณด้านล่างของฝ่ามือ เมื่อมีการกดรัดเส้นประสาทดังกล่าวขึ้น จะทำให้มีอาการปวดข้อมือ และหากละเลยปล่อยสะสมเอาไว้ จะทำให้เกิดอาการแขนอ่อนแรงตามมา โดยอาการที่ร้ายแรงที่สุดของโรคนี้ก็คือกล้ามเนื้อแขนลีบเลยทีเดียว
ว่าแต่อาการปวดมือ มันเกิดขึ้นเพราะอะไรนะ ?
ทำไมถึงมีอาการปวดข้อมือ มือชา ๆ แขนไม่ค่อยมีแรง สาเหตุหลักมาจากสองปัจจัยด้วยกันคือ การเกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บที่ข้อมือจนสร้างความเสียหายกับเส้นประสาทมีเดียน ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่คือสาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่มักเป็นกันมาก ก็คือการใช้ข้อมือ หรือมือข้างใดข้างหนึ่งมากจนเกินไป และเป็นการใช้มือในท่าทางเดิม ๆ เป็นประจำ เช่น การจับมีดทำครัวเพื่อประกอบอาหาร การใช้แรงงานที่แบกหามเป็นประจำหลายชั่วโมง นอกจากนี้อาชีพที่เข้าข่ายจะเกิดอาการปวดข้อมือได้ อาจเป็นช่างแต่งหน้า ช่างทำผม นักดนตรีหรือชาวออฟฟิศอย่างเรา ๆ ที่ต้องนั่งคลิกเมาส์ทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีอาการปวดข้อมือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อาจมีอาการของโรครูมาตอยด์ ตามมาด้วย
จะสังเกตอย่างไรว่าอาการปวดข้อมือกำลังเกิดกับเรา ?
หากสงสัยว่าเสี่ยงจะเป็นโรค CTS ไหม ให้สังเกตได้จาก อาการปวดและชาที่บริเวณฝ่ามือ ซึ่งอาการดังกล่าวจะกระจายอยู่ทั่วทั้งฝ่ามือ ลามไปถึงบริเวณนิ้วชี้ นิ้วกลาง ด้านนอกของนิ้วนาง และนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งอาการปวดที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นส่วนที่มีการเลี้ยงด้วยเส้นประสาทมีเดียนทั้งสิ้น บางรายอาจรู้สึกปวดข้อมือหรือปลายแขนร่วมด้วย แล้วอาการจะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดร้าวจากข้อมือมาถึงฝ่ามือ ยาวไปจนถึงบริเวณท้องแขนเลยทีเดียว แต่อาการดังกล่าวจะบรรเทาลงได้เมื่อลองบริหารข้อมือโดยการสะบัดไปมา เป็นวิธีง่าย ๆ ในการบรรเทาอาการปวดข้อมือด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ควรปล่อยให้อาการชาอยู่นาน เพราะกรณีที่ร้ายแรงที่สุดอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะแขนอ่อนแรงและรักษาให้หายขาดไม่ได้
จะทดสอบอย่างไรว่าเข้าข่ายที่จะเป็นโรค CTS และ อาการปวดข้อมือ
การวินิจฉัยของทางแพทย์จะใช้วิธีในการทดสอบ 2 แบบ คือ Phalen’s test และ Tinel’s Sign ซึ่ง Phalen’s test เป็นวิธีทดสอบที่ให้ผู้ป่วยทำการงอข้อมือประมาณ 90 องศา โดยให้หลังมือนั้นชนกันเป็นเวลา 1 นาที ซึ่งผู้ที่มีอาการของโรคปวดข้อมือ จะรู้สึกชาที่บริเวณฝ่ามือและปลายนิ้ว หรืออีกวิธีคือ การทดสอบที่เรียกว่า Tinel’s Sign แพทย์จะให้ผู้ป่วยหงายมือขึ้น โดยแพทย์ก็จะทำการใช้ปลายนิ้วมือเคาะบริเวณข้อมือที่ตำแหน่งเส้นประสาทมีเดียนผ่าน หากผู้ป่วยมีอาการของโรคนี้ จะรู้สึกเสียวไปตามแนวของเส้นประสาทคล้ายกับการถูกไฟช็อต
ไม่ต้องวิตกไป อาการปวดข้อมือสามารถรักษาได้ !
เมื่อแพทย์ตรวจพบแล้วว่ามีอาการของโรคภาวะการกดรัดเส้นประสาทมีเดียนจริง ๆ แพทย์จะใช้เครื่องพยุงข้อมือ ในการดามบริเวณข้อมือของผู้ป่วย ซึ่งในกรณีที่ต้องดามข้อมือนั้น แพทย์จะมีความเห็นสมควรที่จะให้ผู้ป่วยหยุดงาน หรืองดใช้ข้อมือข้างนั้นเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะรักษาไม่สำเร็จ และหลังจากการดามด้วยเครื่องพยุงข้อมือ แพทย์จะทำการฉีดยาสเตียรอยด์ให้กับผู้ป่วยเพื่อช่วยยับยั้งอาการปวดข้อมือที่เกิดขึ้น ในส่วนของยาสำหรับรับประทาน จะมีทั้งยาขับปัสสาวะที่ช่วยในการลดอาการบวม และวิตามินบี 6 ที่ช่วยให้การทำงานของเส้นประสาทกลับมาเป็นปกติมากขึ้น แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาดังกล่าวแต่อาการปวดข้อมือไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดอย่างรุนแรงจริง ๆ แพทย์จำเป็นต้องเลือกใช้วิธีผ่าตัดเพื่อช่วยคลายเส้นเอ็นส่วนที่กดรัดเส้นประสาทมีเดียนออก ทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวดและชาได้เร็วขึ้น แต่กรรมวิธีการผ่าตัดนั้นต้องใช้เวลาและค่ารักษาพยาบาลที่มากกว่าวิธีอื่น ๆ พอสมควร ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นหลักว่าเห็นสมควรให้ผ่าตัดหรือไม่
เรียกได้ว่าอาการปวดและชาที่ข้อมือนั้น แม้ว่าจะดูห่างไกลจากหัวใจ แต่อาการและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างอันตรายไม่แพ้กับโรคอื่น ๆ เลยทีเดียว โดยเฉพาะชาวออฟฟิศที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ ยิ่งควรต้องให้ความสำคัญกับการบริหารข้อมือให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อผ่อนคลายจากการใช้ข้อมือจับเมาส์ในแต่ละวัน รวมทั้งบริหารกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ด้วยการลุกและขยับตัวให้บ่อยขึ้น ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก ratchaphruekptclinic / pobpad / med
แนะนำบทความ Co Q 10 บำรุงเซลล์
คลิกดู โรงพิมพ์JR