ทัศนคติของ SMEs ที่มีต่อสำนักงานบัญชี
ในช่วงเวลาของเดือนมีนาคม ถึงสิ้นพฤษภาคม ของทุกปี SMEs มักจะได้รับผลกระทบอย่างหนึ่งจากกฎเกณฑ์ของสรรพากรและ กระทรวงพาณิชย์
นั่นก็คือ การยื่นงบการเงินและแบบฟอร์มภาษีให้ทันกำหนด ซึ่งในปีนี้ก็จะตกอยู่ที่ประมาณ สิ้นเดือนพฤษภาคม
ถ้าท่านจะเคยได้ยินว่าคนหนุ่มสาวถ้าจะพิสูจน์รักกันต้องไปปีนภูกระดึงแล้วจะรู้ว่าจะอยู่กันรอดหรือไม่ ในทำนองเดียวกัน การพิสูจน์รักระหว่าง SMEs กับสำนักงานบัญชีที่ใช้บริการอยู่ ก็จะสรุปกันได้ในช่วงปิดบัญชีประจำปีนี่แหละ เพราะจะเคยเห็นอยู่บ่อยๆ ที่หอบผ้าหอบผ่อนแยกทางเดินกันหลังจากปิดงบสิ้นปีผ่านไป
เหตุผลส่วนใหญ่ ที่เคยได้ยินมาก็คือ 1. ปิดงบให้ไม่ทัน 2.ทำให้เสียภาษีมากเกินไปเพราะตัวเลขออกมาช้ามากจนแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว 3.ปิดงบกระชั้นชิดจนลูกค้าไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบตัวเลขก่อน
จะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม เราจะเห็นว่าหลังเดือนพฤษภาฯ ของทุกปีจะเป็นเดือนที่ SMEs มีการจดทะเบียนหย่าจากสำนักงานบัญชีเก่าเพื่อหาสำนักงานบัญชีแห่งใหม่มากที่สุด
สำหรับท่าน ปีนี้จะรู้สึกแง่บวกหรือลบอย่างไรกับสำนักงานบัญชีที่ใช้อยู่ ก็คงจะมีคำตอบให้กับตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากทราบว่าคนอื่นๆ เขาคิดเหมือนท่านหรือไม่
วันนี้จะมาเล่าให้ฟังถึงงานวิจัยที่น่าสนใจ ในหัวข้อทำนองเดียวกัน ที่ผู้วิจัยคือ คุณอิสริยา ปัทมพงศา นักศึกษาชั้นปริญญาโท ของคณะบริหารธุรกิจ แห่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ทำการสำรวจ ทัศนคติต่อการใช้บริการของสำนักงานบัญชีและตรวจสอบบัญชี ของธุรกิจ SMEs เกือบ สามร้อยรายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
เขาบอกว่าผู้ตอบส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ จะเป็นผู้หญิง อายุประมาณ 26-35 ปี จะเห็นได้ว่าตอนนี้ หญิงเหล็กที่เป็นคนรุ่นใหม่กำลังบริหารกิจการ SMEs อยู่โดยส่วนใหญ่
ผลการวิจัยนี้บอกว่า สาเหตุหลักที่ ทำให้SMEs เลิกใช้บริการของสำนักงานบัญชีก็เพราะว่าไม่สามารถอธิบายงานที่ทำออกมากับมือให้ผู้ที่ใช้บริการเข้าใจได้
ก็เลยรู้สึกว่าสำนักงานแห่งนั้นอาจจะมีความรู้ไม่เพียงพอและการใช้บริการต่อไปอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อกิจการ ส่วนสาเหตุรองลงมาก็คือสำนักงานบัญชีไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันกำหนดเวลา พูดง่ายๆ ก็คือทำงานไม่ทันใจลูกค้า
ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือกับคำถามที่ว่า SMEs เหล่านี้เห็นความสำคัญของการใช้บริการของสำนักงานบัญชีเพียงใด คำตอบส่วนใหญ่บอกว่าการใช้บริการของสำนักงานบัญชี ช่วยเพิ่มศักยภาพ ลดค่าใช้จ่ายและช่วยให้ผู้บริหารมีข้อมูลที่ถูกต้องมาใช้ตัดสินใจในการบริหารธุรกิจ
เพราะคำตอบนี้สะท้อนถึงวิวัฒนาการของ SMEs ซึ่งจากเดิมใช้สำนักงานบัญชีเป็นแค่ผู้ยื่นภาษีเท่านั้นแต่ปัจจุบันมีการใช้สำนักงานบัญชีในแง่มุมของบัญชีบริหาร และเดาว่าเขาเหล่านี้ได้พัฒนามาถึงจุดของการทำบัญชีชุดเดียวแล้วซึ่งน่ายินดีอย่างยิ่ง
และที่ทันสมัยมากกว่านั้นก็คือ SMEs ไทยของเรานั้นเริ่มมีแนวคิดแล้วว่า การ Outsource งานบัญชีสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ แสดงว่า SMEs ของเราปรับตัวเข้าสู่ยุค คิดใหม่ทำใหม่ แล้ว เพราะเมื่อก่อนเราจะรู้ว่าเขาจะจ้างสำนักงานบัญชีทำแค่ บัญชี ภาษี ส่วนบัญชีเพื่อการบริหารหรือบัญชีภายใน เขาจะทำกันเองเพราะกลัวความลับรั่วไหล
ก็คงเริ่มตระหนักแล้วว่าการจ้างนักบัญชีเองต้องลงทุนสูงแถมยังไม่เคยปิดงบได้ทันเวลาหันมาจ้างสำนักงานบัญชีทำบัญชีชุดเดียวที่สามารถรองรับได้ทั้งบัญชีสรรพากรและบัญชีบริหาร ทั้งถูกสตางค์กว่าและดีกว่ากันเยอะเลย
ถ้าท่านเป็นนักบัญชีในสำนักงานผ่านมาเจอบทความนี้ก็คงรู้ว่าต้องปรับตัวขนานใหญ่กับ Trend หรือแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นกับทัศนคติของการมีแผนกบัญชีเองเมื่อเทียบกับการ Outsource งานบัญชี
ส่วนใครที่เป็นสำนักงานบัญชีก็คงนั่งยิ้มกับบทความนี้เพราะท่าเพียงแต่เน้นการทำงานให้เป็นมืออาชีพและทำงานให้ทันใจลูกค้า เพียงเท่านี้ท่านก็จะมีงานไหลเข้ามาจนรับไม่ทัน แล้วล่ะ เพราะผลสรุปของงานวิจัยนี้บอกว่า ลูกค้าในปัจจุบันเลือกคุณภาพก่อนราคา
พอดีหน้ากระดาษใกล้จะหมดแล้ว ก็ขอ สรุปเลย ว่าประเด็นอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยในการเลือกใช้สำนักงานบัญชีก็คือ การักษาความลับของข้อมูล มนุษยสัมพันธ์ในการให้บริการ ชื่อเสียง และ บริการหลังการขาย หวังว่าผลวิจัยนี้จะมีประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยและขอขอบพระคุณ คุณอิสริยา ปัทมพงศา ที่ได้กรุณาอนุญาตให้นำผลงานวิจัยนี้มาเปิดเผยเพื่อเป็นวิทยาทาน
ขอบคุณบทความดีดีโดย : คุณ ศิริรัฐ โชติเวชการ ที่มา : หนังสือพิมพ์
Business Thai (27-4-2004)
แนะนำบทความ การตรวจสอบและรับรองบัญชี