สรรพากรเข้าตรวจภาษี จะทำอย่างไร
สำหรับ กลยุทธ์ที่ดีในการรับมือเจ้าพนักงานนั้นท่านควรต้องปฏิบัติตามสโลแกน คือ ลดความตื่น กลืนจุดอ่อน ผ่อนปัญหา เยี่ยมเจรจา หาผู้รู้ ช่วยกู้ภัย แล้วท่านจะสามารถหลีกภัย (ภาษี) ได้แน่นอน
มูลเหตุของการตรวจสอบภาษี
คำถามยอดฮิต ที่ผู้เสียภาษีมักถามไถ่อยู่เสมอก็คือ จะยื่นแบบอย่างไร จึงจะไม่ถูกสรรพากรเพ่งเล็งและหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบภาษี?
ก่อนอื่น คงต้องเล่าถึงที่มา (sources) ของการตรวจสอบภาษีซึ่งมีวิธีการเยอะแยะมากมาย ในที่นี้ขอยกมาฉายเป็นหนังตัวอย่างถึงแนวทางการคัดเลือกรายเพื่อทำการตรวจสอบภาษีสัก 3-4 กรณีพอสังเขป กรรมวิธีก็คล้ายๆ กับการคัดเลือกนางงามเพื่อเข้ารอบ 3 คนสุดท้ายนั่นแหละครับ เพราะในบรรดาผู้เข้าประกวดคือบุคคลธรรมดา (ร่วมล้านราย) และนิติบุคคลกว่า 3 – 400,000 ราย ที่ยื่นแบบนั้น จะมีผู้โชคดีที่ถูกเลือกมาทำการตรวจสอบเพียง น้อยนิด (เพราะกำลังเจ้าหน้าที่มีจำกัด)…ดังนั้น ผู้ที่ได้รับเทียบเชิญ (หมายเรียก) จะไม่ถือเป็นแจ็คพอตได้อย่างไร?… ตัวอย่างวิธีการคัดเลือกที่พอจะแจงได้โดยไม่เสียประโยชน์รัฐ ได้แก่
ก. ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ ช่วยคัดเลือกออกมา
ข. ข้อมูลจากการสืบสวน/งานสำรวจของสรรพากรพื้นที่
ค. ยื่นขอคืนภาษี…ยิ่งในยุค ‘น้ำมันแพง’ สุดๆ ด้วยแล้ว ถ้าไม่เหนียวจริงๆ ขอเตือนว่า “อย่าเสี่ยงดีกว่า !”
ง. ตรวจสอบผู้ซื้อ-ผู้ขายใบกำกับภาษีปลอม…อันนี้ ผู้เขียนเห็นด้วย 2,000% เข้าทำนอง “ตบมือข้างเดียวย่อมไม่ดัง” หรือ “ถ้าไม่มีผู้ซื้อ (demand) ก็ย่อมไม่มีผู้ขาย”ฯลฯ
ดังนั้น การจะไม่ถูกสรรพากรเพ่งเล็ง ก็คือต้องคำนวณรายได้ รายจ่าย อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แม้นว่าจะมีผลลัพธ์เป็นขาดทุน (จริงๆ) ก็ไม่มีปัญหาอะไร…แต่ถ้าจะให้ชัวร์ยิ่งขึ้น ก็ให้นำแบบแสดงรายการไปให้เกจิอาจารย์ที่นับถือเสกครอบด้วยมนต์ ‘เรือนมยุรา’ เพื่อให้คนคัดเลือกแบบงงงวย มองไม่เห็นแบบของเรา โอกาสหลุดรอดก็จะยิ่งมีเปอร์เซนต์สูงขึ้นมาอีก !
ผู้เขียนอยากจะเล่าประสบการณ์ ในการออกตรวจภาษีให้ท่านฟังเป็นอุทาหรณ์สักเรื่องหนึ่ง เหตุเกิด ณ ท้องที่กรุงเทพมหานครนี่แหละ เมื่อคณะตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มชุดหนึ่งได้มีหนังสือนำตัวเพื่อออกตรวจนับสินค้าคงเหลือของบริษัท ABC ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายสีทาบ้านยี่ห้อดังหลายชนิด
อารามที่ตกใจ! หลังจากเชื้อเชิญคณะเจ้าหน้าที่นั่งรอในห้องรับแขก เถ้าแก่ของบริษัทก็รีบรุดออกมาปรึกษากับสมุห์บัญชีว่าจะรับมืออย่างไรดี? สมุห์บัญชีจึงแนะให้ขนสินค้าออกจากบริษัทให้มากที่สุด แล้วจึงค่อยไปเชื้อเชิญคณะเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้าตรวจได้ ด้วยบริษัทสำคัญว่า เมื่อไม่มีสินค้าให้ตรวจนับ ย่อมไม่พบความผิดอะไรเป็นแน่
ผลจากตรวจครั้งนี้ ยุติลงในเวลาอันรวดเร็ว (9.00 – 11.00 น.) เพราะสินค้าที่ตรวจนับได้มีน้อยเต็มทีกระทั่งเวลา 11.05 น. หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ได้ประกาศผลการตรวจสอบพร้อมเงินรางวัลที่จะมอบให้บริษัท ABC ดังนี้…
จำนวนสินค้าตามรายงานสต็อก 1 ล้านชิ้น
หัก จำนวนสินค้าที่ตรวจนับได้ 100 ชิ้น
สินค้าขาดจากรายงาน 9.99 แสนชิ้น
บริษัทฯ ต้องรับผิดเสียภาษีขาย 7%* (จากมูลค่าสินค้าที่นับขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ (ถือเป็น ‘ขาย’ ตามมาตรา 77/1 (8) (จ)) เบี้ยปรับ 2 เท่าของยอดภาษีขายดังกล่าว (มาตรา 89 (10)) และต้องโทษอาญา ตามมาตรา 90 (15) คือ ทำรายงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย VAT เพราะลงรายการสินค้าจริง ไม่ตรงกับบัญชี จึงต้องระวางโทษปรับอาญาไม่เกิน 2,000 บาท อีกกระทงหนึ่ง
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การแตกตื่น (panic) รังแต่จะนำมาซึ่งผลร้าย หามีประโยชน์อันใดไม่
แต่อย่างไรก็ตาม เราทุกคนก็สามารถประหยัดภาษีได้อย่างถูกกฎหมายเช่นกัน ถ้ารู้วิธี วิธีที่ว่าก็คือ‘การวางแผนภาษี (tax planning)’ นั่นเอง อาทิ ตามตัวอย่างในหัวข้อก่อน ถ้าบริษัททราบข้อกฎหมายว่า “หากมีสินค้า เกินจากรายงานสินค้าฯ ก็จะมีโทษถูกปรับอาญาเพียง 2,000 บาท ตามมาตรา 90 (14) เท่านั้น”…ก็คงไม่ต้องเสียเวลายกของหนีจนเหนื่อยล้า แถมยังต้องเจ็บช้ำใจอีกต่างหาก
มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงตระหนักแล้วว่าถ้าเราเป็นผู้ประกอบการที่สุจริตแล้วไซร้ ก็ไม่เห็นจะต้องกลัวอะไรกับการตรวจสอบภาษี และ ‘สรรพากร’ เลย ไม่ว่าเขาจะบุกมาวันนี้ พรุ่งนี้ หรือเมื่อใดก็ตาม…
ขอบคุณบทความดีดีโดย : คุณศิริรัตน์ โชติเวชการ
ขอบคุณบทความดีดีจาก : หนังสือพิมพ์ Business Thai ฉบับวันที่ 19 และ 24 เมษายน 2545
ข้อควรปฎิบัติ เมื่อกิจการถูกตรวจสอบภาษี
5 ร : เมื่อถูกสรรพากรตรวจสอบประเมินภาษี
กลยุทธ์ 10 ประการ เมื่อถูกสรรพากรตรวจสอบและประเมินภาษี
คลิกเพื่อดู โรงพิมพ์ JR
ข้อปฏิบัติ เมื่อกิจการถูกตรวจสอบภาษี