ภาษีบาป
ภาษี t

ภาษีบาป (Sin Tax)

78 / 100

ภาษีบาป

ภาษีบาป (Sin Tax)

 

ภาษีบาปเครื่องมือลดผลกระทบภายนอกที่ไม่พึงปรารถนา มิติใหม่ของการจัดเก็บภาษีอากร

ภาษีบาป (sin tax) เป็นคำเรียกอย่างไม่เป็นทางการของภาษีสุราและยาสูบ

สื่อความหมายถึงการจัดเก็บภาษีการบริโภคสุราและยาสูบ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่รัฐไม่สนับสนุน

ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลประสงค์จะให้ประชาชนละเลิกหรือลดการเสพสุราและยาสูบ โดยกำหนดให้เป็นมาตรการห้ามปรามแบบอ่อนๆ ไม่ถึงการห้ามอย่างเด็ดขาดว่าเสพไม่ได้ หรือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

อาจเป็นเพราะว่าการเสพสุราและยาสูบนั้นเป็นอันตรายกับสุขภาพกับเจ้าตัวเองก็จริงอยู่ แต่ไม่ถึงกับเป็นโทษหรือเกิดผลกระทบอันตรายรุนแรงต่อส่วนรวม

ที่กล่าวเช่นนั้น หลายท่านอาจจะแย้งว่า ตื้นเขินเกินไป เพื่อนของผู้เขียน (นพ.แท้จริง ศิริพานิช) คงจะแย้งว่าความจริงการเสพสุรานั้น เป็นอันตรายต่อสังคมส่วนรวมอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวก เสพแล้วขับรถ” (drunk driving) เป็นต้นตอของอุบัติภัยทางถนน ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคนในแต่ละปี คนบาดเจ็บนับแสน เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของส่วนบุคคลและส่วนรวมหลายพันล้านบาท

รวมทั้งสร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ได้แก่ตำรวจจราจร โรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น)

ยังไม่ต้องพูดถึงความสูญเสียทางจิตใจของญาติพี่น้องและรายได้ของครอบครัวที่หายไป

มากกว่าการสร้างรายได้

ภาษีสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน

เป็นความจริงที่ว่าภาษีอากรคือวิธีการหารายได้เข้ารัฐ แต่ว่าไม่ทั้งหมด ความจริงอีกส่วนหนึ่งที่มักถูกละเลยคือ ภาครัฐสามารถจะใช้ภาษีอากรเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนได้

ตัวอย่างเช่น เราใช้มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์แทนน้ำมันเบนซิน หรือ (ตัวอย่างในอดีต) จูงใจให้หันมาใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว

เครื่องมือนั้นก็คือ อาศัยหลักความแตกต่างของภาษี (tax differentiation) หรือมาตรการยกเว้นไม่เก็บภาษีดอกเบี้ย กับการออมในรูปพันธบัตรรัฐบาล หรือการออมเงินระยะยาวในกองทุนบำเหน็จบำนาญ เพราะว่ารัฐต้องการสนับสนุน ให้คนเก็บออมเพิ่มขึ้น ไม่ประมาทและเตรียมการ (ออมให้พอเพียง) สำหรับใช้จ่ายในวัยหลังเกษียณจากการทำงาน

การเก็บภาษีบาปจากสุราและยาสูบ มีหลักคิดเบื้องหลังว่าสุราและยาสูบเป็น สินค้าที่ไม่มีคุณ (demerit goods) ทำให้เกิดผลกระทบภายนอกที่ไม่พึงปรารถนา (negative externality)

หนึ่ง การเสพ ทำให้สุขภาพทรุดโทรม ซึ่งท้ายที่สุดจะกลายเป็นภาระของญาติพี่น้อง ของสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องให้การดูแลหรือรักษาพยาบาล

สอง การเสพสุราเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุและอุบัติภัยอย่างมากมาย ทั้งบนท้องถนน หรืออุบัติภัยโรงงานในสถานที่ทำงาน เป็นสาเหตุของความประมาทและเลินเล่อ เกิดผลเสียหายต่อสังคมหรือความรำคาญต่อผู้อื่น ฯลฯ

การเก็บภาษีบาป เป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐไม่สนับสนุนการเสพ และนำมาเป็นเครื่องมือลดภาระการรักษาพยาบาลและลดอุบัติภัย

รายได้จากสุราและยาสูบนี้ภาครัฐยังสามารถนำไปสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่น การโฆษณาให้ลดละเลิกการเสพ จัดโครงการสังคมเพื่อจูงใจให้เลิกบุหรี่ในโรงเรียนหรือกลุ่มเยาวชน ฯลฯ

แต่จะอย่างไรก็ตาม ก็อาจจะมีคำถามหรือข้อสงสัยว่า ภาษีบาป (ซึ่งเพิ่มราคาและค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค) จะได้ผลเพียงใด

มักจะมีข้อสงสัยว่าภาษีและราคาแพงก็จริง แต่ว่าเมื่อ เสพติดไปแล้ว จะลดการบริโภคลงได้จริงหรือ

คำถามเช่นนี้ไม่ใช่ตอบได้ง่าย ถ้าจะค้นหาความจริงก็ควรจะต้องมีการค้นคว้าวิจัยและสำรวจข้อมูลอย่างเอาจริงเอาจัง

สำหรับผู้บริหารและนักวิชาการคลัง ยังมีคำถามต่อว่า การกำหนดอัตราภาษีบาปที่เหมาะนั้นสมควรจะเป็นเท่าใด

เพราะถ้าจัดเก็บอัตราต่ำเกินไป ปริมาณการเสพก็จะเหมือนเดิม ไม่เกิดผลหรือแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันใด แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าหากรัฐจะจัดเก็บภาษีในอัตรา มหาโหดก็อาจจะเดือดร้อน (อย่างน้อยในกลุ่มของผู้เสพสุราและยาสูบ อาจจะถึงขั้นลุกขึ้นมาประท้วง)

หรือทำให้เกิดการเสพแบบใต้ดิน สุราเถื่อน บุหรี่เถื่อน กลายเป็นสินค้าใต้ดิน การลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ปลอมปนเพราะว่าราคาแพง ฯลฯ

ความพอดีอยู่ที่ใด?

ภาษีบาป หลักคิดและอัตราภาษีที่เหมาะสม

ในต่างประเทศที่มีฐานะการวิจัยเข้มแข็ง มีนักวิชาการและสถาบันวิชาการที่ทำงานวิชาการ ควบคู่กับการกำหนดนโยบายในเรื่องภาษีบาปก็เช่นเดียวกัน

มีผลงานวิจัยเชิงประยุกต์หัวข้อ Optimal Alcohol Tax ที่น่าสนใจและเห็นว่า มีเนื้อหาน่าจะนำมาเล่าสู่กันฟัง (หัวหน้าคณะวิจัยชื่อ lan W.H.Parry สนับสนุนโดยสถาบันวิจัยทรัพยากรเพื่ออนาคต Resources for the Future Instiute)

ภาษีบาป

เขาเสนอหลักความคิดและวิธีการคำนวณภาษีบาป ดังนี้

เหตุผลประการหนึ่ง ของการจัดเก็บภาษีบาป เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลดการบริโภคหรือการเสพลง ดังนั้น ในส่วนนี้จำเป็นต้องศึกษาอัตราการตอบสนอง (คำศัพท์เศรษฐศาสตร์เรียกว่า ค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ demand elasticity) ว่ามีค่ามากหรือน้อย ถ้าหากว่าอัตราการตอบสนองสูง (ค่าความยืดหยุ่นสูง) ก็แปลว่าเพิ่มอัตราภาษีแต่เพียงเล็กน้อย แต่ว่าได้ผลมาก (ลดการบริโภค) แต่ถ้าอัตราการตอบสนองต่ำ (ค่าความยืดหยุ่นต่ำ) แปลว่า รัฐต้องเพิ่มภาษีบาปมาก เพื่อจะได้ผลลัพธ์ขนาดเท่ากัน การคำนวณอัตราภาษีที่เหมาะสมภาษีตามหลักการ มีคำศัพท์เฉพาะเรียกว่า Ramsey Tax (ตามชื่อของนักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ Frank P.Ramsey)

เหตุผลข้อสอง ภาษีบาปเพื่อสร้างรายได้ และนำเงินดังกล่าวมาบรรเทาหรือลดขนาดของผลกระทบภายนอก (externalitycorrecting measure) ความหมายก็คือ อุบัติภัยจราจรก็ดี ทำให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สิน (ถนนหนทางที่ภาครัฐลงเงินไปมหาศาล) เสียค่าใช้จ่ายทางการแพทย์จากต้องมาดูแลคนป่วยก็ดี เสียค่าใช้จ่ายตำรวจจราจรและคดีความในศาล ฯลฯเหล่านี้ล้วนถือว่าเป็นภาระหรือ ผลกระทบภายนอกจากการเสพสุราและยาสูบ จึงมีเหตุผลสมควรที่จัดเก็บภาษีและนำเงินรายได้นั้น มาใช้จ่ายสนับสนุนกิจกรรมของรัฐที่จะบรรเทาความเสียหาย

ในสหรัฐและยุโรปที่มีรากฐานการวิจัยเข้มแข็ง ได้มีการจัดเก็บข้อมูลสถิติว่า อุบัติภัยที่เกิดจาก เมาแล้วขับ เกิดกี่ครั้ง ใครเป็นต้นเหตุ คนขับเป็นชายหรือจริง อายุเท่าใด หรือกรณีการสูบบุหรี่ ปัญหาโรคปอดสร้างภาระต่อคนอื่นๆ (คนอยู่ใกล้ชิดที่ไม่สูบบุหรี่) และค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และโรงพยาบาลมากน้อยเพียงใด

นักวิจัยได้ใช้ความอุตสาหะพยายามในการประมวลข้อมูลเชิงประจักษ์ และประเมินค่าความเสียหายออกมาเป็นตัวเงิน ฯลฯ มูลค่าของความเสียหายที่ประเมินออกมาเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาประกอบในการกำหนดนโยบาย และกำหนดอัตราภาษี

หลักความคิดเช่นนี้มีศัพท์เศรษฐศาสตร์เรียกว่า ภาษีพิกูเวียน (Pigouvian tax ตามชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษในอดีต Arthur C.Pigou)

คณะวิจัยชุดนี้ ใช้ตัวเลขสถิติที่สำรวจในสหรัฐมาคำนวณ อัตราภาษีบาปที่เหมาะสมผลปรากฏว่า ถ้าหากจะจัดเก็บภาษีให้ครบถ้วน อัตราภาษีบาปจะสูงมากทีเดียว (ซึ่งเกินกว่าที่ผู้บริหารภาครัฐ ระดับประเทศ หรือมลรัฐ จะยอมรับได้ ตัวอย่างเช่น อัตราภาษีที่เหมาะสมควรจะเป็น 100 เหรียญต่อแกลลอน แต่ว่าในสภาพจริง ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติตัดสินใจว่าเก็บสักครึ่งหนึ่ง เช่น 50 เหรียญต่อแกลลอนก็เพียงพอ เป็นต้น) แปลว่าในสภาพเป็นจริงสังคมยอมรับการเก็บภาษีบาปได้เพียงแค่นี้ ไม่ว่ากัน

แต่วิธีคิดการคำนวณและการวิจัยของเขาก็นับว่าน่าสนใจ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดี ถ้าหากเราทำได้เช่นนี้ในการกำหนดนโยบายทุกๆ เรื่อง ก็จะทำให้เมืองไทยเราเป็น สังคมแห่งการเรียนรู้และใช้เหตุใช้ผลในการกำหนดนโยบาย ดีกว่าทำนโยบายแบบมั่วๆ โดยไม่มีรากฐานความคิด

ปราศจากข้อมูล หรือใช้ มั้งศาสตร์กำหนดนโยบายตลอดเวลาอย่างแน่นอน (ขอยืมคำศัพท์ของท่านอาจารย์ นพ.ประเวศ วะสี)

ภาษีบาป

ภาษีบาป การวิจัยและการทำงานของ สสส.

    

สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นหน่วยงานที่ภาครัฐให้การสนับสนุน โดยอาศัยภาษีบาป (โดยที่รัฐบาลได้กันเงินร้อยละ 2 จากภาษีสุราและยาสูบ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย) มาทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ กิจกรรมการรณรงค์ลดการเสพสุราและยาสูบ การออกกำลังกายและลดความเสี่ยงภัยด้านสุขภาพ ฯลฯ

ในแต่ละปี สสส.ได้รับการจัดสรรเงินนับพันล้านบาท ซึ่งนำมาใช้จ่ายสนับสนุนกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพของคนไทย มีเครือข่ายองค์กรทั้งภาคประชาชน ที่ทำงานร่วมกับ สสส.ทั่วประเทศ ในแต่ละปีมีโครงการ/กิจกรรมนับพันโครงการ

นับว่า สสส.เป็นหน่วยงานภาครัฐหนึ่งที่คนไทยรู้จักคุ้นเคย เช่น มาตรการ ลดเหล้าเข้าพรรษา” “ตั้งสติก่อนสตาร์ตหรือการเตือนให้ใช้เข็มขัดนิรภัย เมาไม่ขับ ฯลฯ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนได้ประเมินว่า กิจกรรมที่ สสส.ให้การสนับสนุนนั้น ทำให้ประชาชน ติดหูติดตาหรือพูดง่ายๆ ว่าเข้าถึงมวลชน

แต่เมื่อประชาชนได้รับข่าวสารแล้วจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (ลดเหล้าและบุหรี่) หรือเปล่า ลดพฤติกรรมเมาไม่ขับ หรือเปล่า

เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่คิดว่า น่าจะมีการศึกษาและการประเมินอย่างจริงจัง รวมไปถึงการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ ตัวอย่างเช่น ถามว่า ผลกระทบภายนอก (external effects) จากการบริโภคสุราและยาสูบ มีมากน้อยเพียงใด และคิดเป็นมูลค่าเท่าใด ความรู้เช่นนี้จะนำไปสู่การคำนวณอัตราภาษีบาปที่เหมาะสม (optimal sin tax)

ไหนๆ สสส.ก็ทำดีมาแล้ว จึงขอสนับสนุนให้ทำดียิ่งขึ้น จะได้เป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ สังคมแห่งการเรียนรู้และ การจัดการความรู้โดยอิงฐานข้อมูลและปัญญา

ความคุณบทความดีดีจาก  : คุณดิเรก ปัทมสิริวัฒน์  ที่มา : มติชนรายวัน  วันที่ 8 มิถุนายน พ.. 2549

คลิกเพื่อดู     โรงพิมพ์ JR

โรงพิมพ์ เจอาร์

+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0