ภาษีธุรกิจออร์แกนไนเซอร์
การจัดงานต่างๆ ของบริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันได้ใช้บริการของธุรกิจออร์แกไนเซอร์ หรือธุรกิจรับจัดกิจกรรมมากขึ้น ไม่เพียงแต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่ใช้บริการนี้ ในเมืองใหญ่ๆ ตามต่างจังหวัด ก็ได้รับความนิยมใช้บริการนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการเปิดตัว
ธุรกิจออร์แกไนเซอร์จะได้รับความนิยมจากผู้ว่าจ้าง เพราะ เป็นมืออาชีพมากกว่า หากธุรกิจหรือหน่วยงานดำเนินการเอง อาจจะไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ดีพอเท่าที่ต้องการ นอกจากนั้น ยังอาจทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายอีกด้วย
การส่งเสริมการขายโดยการลด แลก แจก แถม ส่วนใหญ่ธุรกิจก็ทำกันอยู่แล้ว หากมีการจ้างออร์แกไนเซอร์โอกาสขายสินค้าหรือ ถูกว่าจ้างในการให้บริการก็มีมากขึ้น บริษัทขายรถยนต์บางแห่งใช้วิธีจัดกิจกรรมออกไปทัวร์ตามต่างจังหวัดทั่วไทย ก็ประสบความสำเร็จดีทีเดียว ธุรกิจออร์แกไนเซอร์ หรือธุรกิจรับจัดกิจกรรม มักจัดตั้งในรูปของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมากกว่าจัดตั้งในรูปของบุคคลธรรมดา เพราะการจัดตั้งในรูปของบริษัทมีความน่าเชื่อถือมากกว่า
ทีนี้เรามาดูกันว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจออร์แกไนเซอร์หรือรับจัดกิจกรรม มีหน้าที่ทางภาษีตามประมวลรัษฎากรอย่างไร รวมถึงผู้ว่าจ้างต้องมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อจ่ายเงินค่าจ้างหรือไม่ สรุปได้ ดังนี้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล แน่นอนการจัดตั้งในรูปบริษัทธุรกิจนี้จะ ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานภาษีกำไรสุทธิ โดยจะต้องยื่นเสียภาษีจากการประมาณการกำไรสุทธิ ด้วยแบบ ภ.ง.ด. 51 ภายใน 2 เดือนนับแต่วันครบกำหนด 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี และเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ต้องยื่นเสียภาษีจากกำไรสุทธิที่ เกิดขึ้นจริง ด้วยแบบ ภ.ง.ด. 50 ภายใน 150 วัน นับแต่สิ้นรอบ ระยะเวลาบัญชี บริษัทสามารถนำภาษีที่ชำระตามแบบ ภ.ง.ด. 51 มาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าจ้างจากการรับจัดกิจกรรม หากมีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อรอบระยะเวลาบัญชี ต้องจดทะเบียนเป็น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจออร์แกไนเซอร์ต้อง ใช้วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในการจัดกิจกรรม รวมถึงอาจมีการจ้างพริตตี้ นักร้อง นักแสดง มาร่วมจัดกิจกรรมเพื่อเร้าตา เร้าใจ กลุ่มเป้าหมาย
ดังนั้น นอกจากจะมีเรื่องภาษีซื้อเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มาเกี่ยวข้องแล้ว ก็ยังมีเรื่องค่าแรงของพริตตี้ นักร้องและนักแสดงพ่วงมาอีกด้วย สำหรับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรม หากไม่ใช่ภาษีซื้อต้องห้ามแล้ว ก็สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนภาษีได้ตามปกติ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผู้ว่าจ้างที่เป็นบริษัท เมื่อจ่ายค่าจ้างให้ออร์แกไนเซอร์ จะต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของค่าจ้างที่จ่าย แต่ถ้าผู้จ่ายค่าจ้างเป็นหน่วยงานรัฐจะต้องหักภาษีในอัตราร้อยละ 1 หากผู้ว่าจ้างเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปว่าจ้างให้ออร์แกไนเซอร์จัดกิจกรรม เมื่อจ่ายค่าจ้างให้ออร์แกไนเซอร์ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพราะว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดไว้
อากรแสตมป์ การรับจัดกิจกรรมเป็นการรับจ้างทำของอย่างหนึ่ง จะต้องเสียอากรแสตมป์ 1 บาทต่อวงเงินค่าจ้าง 1,000 บาทหรือ เศษของ 1,000 บาท
ธุรกิจออร์แกไนเซอร์ หรือธุรกิจรับจัดกิจกรรม นับวันจะมีความสำคัญต่อธุรกิจหรือหน่วยงานต่างๆ การใช้บริการแบบนี้มีมากขึ้น เรื่อยๆ ออร์แกไนเซอร์ควรศึกษาดูว่า มีภาษีใดเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไรบ้าง หากปฏิบัติถูกต้อง ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้วครับ
ขอบคุณบทความดีดีจาก : โพสต์ ทูเดย์ วันที่ 24 ตุลาคม 2551
คลิกดู โรงพิมพ์ JR