ประเมิน “ความอยู่รอด”
เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่งต่อความเป็นความตาย หรือความอยู่รอดปลอดภัยของธุรกิจของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น หากเจ้าของธุรกิจมุ่งทำแต่ธุรกิจแบบเดินหน้าไปอย่างเดียว ไม่สนใจกับส่วนประกอบหรือสภาวะแวดล้อมด้านต่างๆ ของธุรกิจ ก็อาจทำให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความเสี่ยงได้โดยไม่รู้ตัว การหันกลับมาประเมินตนเองและประเมินสภาพการดำเนินธุรกิจเป็นระยะๆ จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้เจ้าของหรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้มีโอกาสตั้งหลัก หันกลับมามองเส้นทางที่ธุรกิจได้เดินทางผ่านมา และเตรียมการวางแผนเพื่อกำหนดอนาคตของธุรกิจให้เดินไปในทิศทางที่ต้องการอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ หากเจ้าของหรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นในการประเมินตนเองและประเมินธุรกิจของตนอย่างไรดี ก็อาจลองเริ่มต้นจากการสำรวจในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ดู
1. สถานภาพของธุรกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เจ้าของหรือผู้ประกอบการมองเห็นภาพหรือไม่ว่าปัจจุบันกำลังอยู่ในธุรกิจอะไร มียอดขายโดยเฉลี่ยเท่าไร ยอดขายหลักมาจากไหน มีกำไรมากน้อยเพียงไร กำไรส่วนใหญ่มาจากไหน คำถามเหล่านี้ จะทำให้เจ้าของหรือผู้ประกอบการทราบว่า ในธุรกิจของเรา มีสินค้าหรือบริการตัวไหนที่เป็นพระเอก พระรอง หรือ ตัวไหนที่เป็นตัวฉุด การทำธุรกิจในปัจจุบันมักจะมีกลยุทธ์ลูกเล่นและทางเลือกต่างๆ มากมาย เช่น การทำร้านอาหาร อาจไม่ได้มุ่งหวังไปที่ยอดขายอาหาร แต่รายได้หลักอาจมาจากบริการอื่นๆ ก็ได้ นอกจากนี้ การตรวจประเมินสภาพของธุรกิจ ยังอาจต้องดูไปถึงการบริหารจัดการในเรื่องสภาพคล่องของธุรกิจอีกด้วย โดยเฉพาะในการบริหารลูกหนี้และเจ้าหนี้ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถมีกระแสเงินสดหมุนเวียนมาใช้ได้โดยคล่องไม่ติดขัด
2. กลยุทธ์การตลาดที่ใช้อยู่
หัวข้อที่เจ้าของหรือผู้ประกอบการต้องประเมินเกี่ยวกับความอยู่รอดของธุรกิจของตนเองในประเด็นต่อไปได้แก่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตลาดและกลยุทธ์การตลาด โดยการทบทวนว่า ทบทวนขนาดของตลาดของสินค้าของเราว่ามีแนวโน้มเติบโตมากน้อยเพียงใด ทำเลที่ตั้งของธุรกิจยังเหมาะสมอยู่หรือไม่ จำเป็นต้องเตรียมการขยับขยายหรือโยกย้ายอย่างไรหรือไม่ กลุ่มเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะลักษณะที่เกี่ยวกับ อายุ เพศ รายได้ และ รสนิยม เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยกำหนดไว้หรือไม่ หากมีการเปลี่ยนแปลง เป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางใด วงจรชีวิตของสินค้า ยังอยู่ในช่วงชีวิตเดิม หรือ กำลังเติบโตไปสู่ช่วงชีวิตถัดไปแล้ว วิธีการส่งเสริมการขายที่ใช้อยู่ ยังมีความเหมาะสมหรือไม่ ยังทำงานได้ผลตามที่คาดไว้หรือไม่ เช่น กลยุทธ์ ของแถม การลดราคา ชิงรางวัล สะสมยอด บริการจัดส่งฟรี ฯลฯ
วิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ใช้อยู่ ยังให้ผลดีตามต้องการหรือไม่ และวิธีใดที่น่าจะให้ผลดีที่สุด เช่น จดหมายถึงลูกค้าโดยตรง โฆษณาหนังสือพิมพ์ โฆษณาในวารสารหรือนิตยสาร สมุดหน้าเหลือง สปอตวิทยุ หรือ โทรทัศน์ เป็นต้น
3. ราคาสินค้า
ระดับราคาสินค้าในปัจจุบันของเราเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด วิธีการตั้งราคาที่เคยใช้อยู่เหมาะสมอยู่หรือไม่ สมควรเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เจ้าของหรือผู้ประกอบการต้องอย่าลืมความสำคัญของการตั้งราคา เนื่องจากราคาสินค้าจะเป็นตัวที่จะทำให้เรามีความสามารถในการสร้างกำไรได้ และยังเป็นตัวกำหนดภาพลักษณ์หรือตำแหน่งผลิตภัณฑ์ที่สำคัญอีกตัวหนึ่งด้วย
4. ตัวสินค้าและการผลิต
สินค้าของเราได้รับการพัฒนาอย่างไรหรือไม่ ทั้งในด้านของการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น รูปลักษณ์ทันสมัยขึ้น หรือ การใช้งานที่สะดวกมากขึ้นหรือใช้งานได้เพิ่มเติมหลากหลายมากขึ้น บรรจุภัณฑ์ หีบห่อ ฉลาก เคยได้รับการพัฒนาหรือไม่ หรือยังคงรูปแบบดั้งเดิมอยู ค้าใหม่เพิ่มเติมหรือไม่ สินค้าใหม่ได้รับความนิยมมากน้อยอย่างไร หากมีการผลิตสินค้าเอง การบริหารจัดการการผลิตมีพัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงใดบ้าง มีการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการผลิตหรือไม่ ต้องดำเนินการผลิตตามมาตรฐานบังคับหรือไม่ หากต้องผลิตตามมาตรฐาน มีปัญหาในการทำให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐานหรือไม่ มีการบริหารปัจจัยการผลิตอย่างไรหรือไม่ มีการตัดแบ่งงานให้บุคคลภายนอกเพื่อช่วยงานผลิตหรือไม่ จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิบัตร หรือ การลอกเลียนแบบการผลิตหรือไม่
5. ลูกค้าและคู่แข่ง
ลูกค้าและคู่แข่ง เปรียบเสมือนปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่จะมีผลโดยตรงต่อการสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจ ซึ่งก็หมายถึงความอยู่รอดและความสามารถของธุรกิจที่จะเติบโตขยายตัวต่อไปได้ในอนาคต หัวข้อที่ควรทบทวนหรือประเมินเกี่ยวกับลูกค้าและคู่แข่ง ได้แก่ เรารู้จักลูกค้าของเราหรือไม่ ในแง่มุมที่ว่า ลูกค้ามีความต้องการที่จะซื้ออะไร ทำไมจึงซื้อ ลูกค้าเลือกที่จะไปซื้อที่ไหน ซื้อบ่อยแค่ไหน ลูกค้าคาดหวังว่าจะได้รับบริการอย่างไรทั้งก่อนและหลังการขายอย่างไร เราสนองตอบความต้องการของลูกค้าได้ดีแค่ไหน เรามีการวัดระดับความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าอย่างไรหรือไม่ เราจะทำให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่แตกต่าง และดีขึ้น ได้อย่างไร เรามีลูกค้ารายใหม่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ลูกค้ารายใหม่เป็นใคร มาจากไหน คู่แข่งรายใหญ่ของเราคือใคร และคู่แข่งอื่นๆ กำลังทำอะไรอยู่ คู่แข่งทางตรง คู่แข่งทางอ้อม และ สินค้าทดแทน มีบทบาทอย่างไรต่อธุรกิจของเราทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
6. การบริหารจัดการธุรกิจ
การบริหารจัดการภายในบ้านหรือหลังบ้านของธุรกิจ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะบ่งบอกถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจและความพร้อมที่ธุรกิจจะเติบโตไปอย่างมั่นคง ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ เรื่องของระบบบัญชีและการเงิน การบริหารจัดการคน และการพัฒนาคน เป็นต้น
ตัวอย่างของเรื่องที่ควรนำมาทบทวน เช่น
สถานะทางการเงินของกิจการเป็นอย่างไร เจ้าของหรือผู้ประกอบการให้ความสนใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด อย่างไรหรือไม่ สามารถนำงบการเงินมาใช้ในการวางแผนธุรกิจหรือไม่
จุดคุ้มทุนของธุรกิจอยู่ที่ไหน มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด รายจ่ายในแต่ละเดือนรายการไหนที่สูงที่สุด และมีสถิติเปลี่ยนแปลงอย่างไร กฎระเบียบในการว่าจ้างพนักงาน การรับพนักงานใหม่ การเลื่อนตำแหน่งงาน การปรับเงินเดือน ฯลฯ มีไว้อย่างชัดเจนหรือไม่ กิจการเคยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความประพฤติของพนักงาน ปัญหาแรงงานสัมพันธ์ หรือ ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานหรือไม่ จะวางแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาได้อย่างไร
พนักงานหรือผู้บริหารเคยได้รับการอบรมความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับงานที่ต้องทำหรือไม่ ทราบหรือไม่ว่าที่ไหนจะมีการอบรมเรื่องอะไร หรือ จะไปรับการอบรมได้ที่ไหน ฯลฯ
หัวข้อการประเมินเหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่ผมได้รวบรวมมาไว้สำหรับเจ้าของหรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการจะสำรวจหรือประเมินจุดแข็งจุดด้อยของตนเองและกิจการว่าจะสามารถยืนหยัดอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้หรือไม่ท่ามกลางสมรภูมิธุรกิจเช่นในปัจจุบันนี้
หวังว่ากระจกเงาบานนี้ คงจะสะท้อนภาพธุรกิจปัจจุบันและในอนาคตของท่านได้ชัดเจนไม่มากก็น้อย
ขอบคุณบทความดีดีจาก : คุณ เรวัต ตันตยานนท์ http://www.bangkokbizweek.com
คลิกดูเลย โรงพิมพ์ JR