นางกวัก
เรื่องลี้ลับ เหนือธรรมชาติ เครื่องรางของขลัง

นางกวัก กวักเรียกลูกค้า

81 / 100

นางกวัก กวักเงินกวักทอง

นางกวัก เป็นรูปเคารพที่นิยมกันมากในหมู่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลาย เพื่อกวักเรียกลูกค้าและเงินทองให้หลั่งไหลเข้ามาในร้าน มีพุทธคุณด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ และความก้าวหน้าในกิจการค้าแก่ผู้กราบไหว้บูชา

นางกวักเป็นรูปสตรีสมัยโบราณ ผมยาวประบ่า ในท่านั่งพับเพียบอยู่บนแท่นทอง ห่มผ้าสไบเฉียงทอด้วยไยบัว นุ่งผ้ายกดอก ยอดอกประดับพาหุรัด สร้อยสังวาลและทองกร มือข้างขวาแสดงอาการกวัก เท้าแขนข้างซ้าย บ้างก็สร้างแขนซ้ายให้ถือถุงเงินถุงทอง จารอักขระขอม

การสร้างนางกวักตามตํารับแบบโบราณจะต้องใช้จะงอยงวงช้างตัวเมีย ซึ่งมีคุณทางด้านเมตตามหานิยม แกะสลักจากปลายจะงอยงวงช้างหรือแกะจากงาช้างอันเป็นเรื่องที่ยาก อีกทั้งยังเป็นการฆ่าช้างเพียงเพื่อต้องการจะงอย ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นการบรรจุพลังคชสิทธิ์เป็นวัตถุเทพสิทธิคุณ หรือบรรจุส่วนผสมผงงาช้าง ซึ่งพระเกจิอาจารย์แต่ละสํานักมักจะใช้วัตถุมวลสารแตกต่างกัน มีทั้งโลหะ เนื้อทองคํา เนื้อทองเหลือง ดินเผา สัมฤทธิ์ หล่อเป็นรูปนางกวักสําหรับบูชาบนหิ้ง หรือบูชาตั้งโต๊ะขนาด 5 นิ้ว บ้างก็แกะสลักจากต้นหรือรากรักซ้อน งาแกะ ฝังตะกรุด ฯลฯ จึงทําให้ขนาดแตกต่างกันออกไป แล้วทําพิธีปลุกเสกด้วยคาถาหัวใจนางกวักจนมือขยับไปมาหน้าหลังได้

รูปแบบของนางกวักยังมีปรากฏในลักษณะเหรียญและล็อกเกตติดห่วงสําหรับห้อยคอ สร้างจากเนื้อผงผสมว่าน เนื้อโลหะ ทองเหลืองและเนื้อเงิน ลงยา ขนาด 1.5 x3 ซม. นอกจากนี้ยังมีผ้าดิบสีขาว หรือผ้าดิบแดงลงยันต์รูปนางกวักคู่หงส์ทองมหาลาภ สําหรับใส่กรอบบูชาขนาดประมาณ 7 x 10.5 นิ้ว ให้พุทธคุณสูง ทางด้านเรียกผู้คนโชคลาภเงินทอง ด้วยคติที่เชื่อกันว่า เมื่อนํานางกวักมาบูชาแล้วต้องสักการะด้วยน้ำแดง อาหารคาวหวานบ้าง จะส่งผลให้ธุรกิจร้านค้านั้นเจริญรุ่งเรื่อง

นางกวัก

ตามตํานานมีการกล่าวถึงนางกวัก ไว้ 3 ตํานานดังนี้

ตำนานแรก

ตามประวัติพุทธสาวกในสมัยพุทธกาลกล่าวว่า นางกวักมีชื่อจริงว่า สุภาวดี เป็นธิดาของสุจิตพราหมณ์กับนางสุมณฑา เกิดที่เมืองมัจฉิกาสัณฑ์ ประกอบอาชีพทํามาค้าขาย ต่อมาสุจิตพราหมณ์ ผู้เป็นพ่อได้ขยายกิจการ ซื้อเกวียนมา 1 เล่มนำสินค้าไปเร่ขายในต่างถิ่น บางครั้งบุตรสาวขออนุญาตเดินทางไปด้วย เพื่อเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ

ระหว่างการค้าขาย นางสุภาวดีได้มีโอกาสพบกับ “พระกัสสปเถระเจ้า” เป็นอริยสงฆ์แสดงธรรม หลังจากฟังธรรมเทศนาอย่างตั้งใจแล้ว พระกัสสปเถระเจ้าได้กําหนดจิต เป็นอํานาจจิตพระอรหันต์ประสิทธิ์ประสาทพรให้นางสุภาวดีและครอบครัว โดยได้ตั้งกุศลจิตประสาทพรเช่นนี้ทุกครั้งที่นางสุภาวดีมีโอกาสไปฟังพระกัสสปเถระแสดงธรรม

ต่อมา นางสุภาวดีได้เดินทางติดตามบิดาไปทําการค้า และมีโอกาสฟังธรรมพระอริยสงฆ์อีกท่านหนึ่ง นามว่า “พระสิวลีเถระเจ้า” นางสุภาวดีก็ได้ฟังธรรมอย่างตั้งใจ จนมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมต่างๆ เป็นอันมาก พระสิวลีเป็นผู้มีชีวิตอัศจรรย์กว่าพระสงฆ์อื่น คือ ท่านอยู่ในครรภ์มารดานานถึง 7 ปี 7 เดือน จึงคลอดออกมาพร้อมด้วยวาสนา บารมี ที่ติดกับวิญญาณธาตุของท่าน ท่านจึงเป็นผู้มีลาภสักการบูชามาหาท่านตลอด เมื่อถึงคราวที่นางสุภาวดีได้ฟังธรรม และลากลับพระสิวลีเถระเจ้าได้กําหนดกุศลจิตประสาทพรให้นางสุภาวดี เช่นเดียวกันกับพระกัสสปเถระเจ้า นางสุภาวดีจึงได้รับประสาทพรจาก พระอรหันต์ถึงสององค์ ส่งผลให้บิดาทําการค้าได้กําไรไม่เคยขาดทุน

พรที่นางสุภาวดีได้รับมีอยู่ว่า “ขอให้เจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง จากการค้าขายสินค้าต่างๆ สมความปรารถนาเถิด” ภายหลังบิดารู้ว่านางสุภาวดี คือ ผู้ที่เป็นสิริมงคลที่แท้จริง เป็นที่ไหลมาแห่งทรัพย์สมบัติของครอบครัว ครอบครัวร่ำรวยขึ้นเป็นมหาเศรษฐี มีเงินทองและกองเกวียนสินค้ามากมาย เมื่อนางสิ้นชีวิตแล้ว ชาวบ้าน จึงปั้นรูปแม่นางสุภาวดีไว้บูชา ขอให้การค้ารุ่งเรือง และความเชื่อนี้เริ่มแพร่หลายเข้ามาจากการเผยแพร่ของพราหมณ์เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

ตํานานที่สองนี้

สืบเนื่องมาจากเรื่องรามเกียรติ์ว่า นางกวัก เป็นธิดาของปู่เจ้าเขาเขียวหรือท้าวพนสบดิ (เจ้าแห่งป่าเขาลําเนาไพร) ซึ่งเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ คือ สวรรค์ชั้นที่หนึ่ง ครั้งนั้นมีอสูรตนหนึ่งชื่อ ท้าวกกขนาก หรือ ท้าวอุณาราชสหายของท้าวพนัสบดี ถูกพระรามเอาต้นกกแผลงไปถูกทรวงอกแล้วตรึงร่างติดกับเขาพระสุเมรุ แล้วสาปว่า “ตราบใดที่บุตรของท้าวกกขนากทอใยบัวเป็นจีวร เพื่อถวายแด่พระศรีอริยเมตไตรยที่จะเสด็จมาตรัสรู้แล้ว จึงจะพ้นคําสาป”

ดังนั้นนางประจันทร์ พระธิดาของท้าวกกขนากจึงต้องอยู่คอยปฏิบัติพระบิดา และพยายามทอจีวรด้วยใยบัวเพื่อให้เสร็จทันถวายพระศรีอริยเมตไตรย ที่จะเสด็จมาตรัสรู้ในอนาคตกาล เมื่อนางประจันทร์มาคอยดูแลพระบิดาอยู่ที่เขาพระสุเมรุนั้น ชาวบ้านที่เกรงกลัวต่อความอาฆาตของท้าวกกขนาก ก็ได้คอยขัดขวางและกลั่นแกล้งนางประจันทร์ ทําให้ฐานะความเป็นอยู่ของนางลําบากยากเข็ญยิ่งขี้น

เมื่อปู่เจ้าเขาเขียวทราบเรื่อง จึงได้เกิดความสงสาร จึงส่งธิดามาอยู่เป็นเพื่อน ด้วยบุญฤทธิ์ของธิดาปู่เจ้าเขาเขียว จึงได้บันดาลให้พ่อค้าวาณิช และผู้คนเกิดความสงสารเมตตาพากันเอาทรัพย์สินเงินทองพร้อมทั้งเครื่องอุปบริโภคมาให้ยังที่พักของนางเป็นจํานวนมาก ทําให้ความเป็นอยู่ของนางประจันทร์มีความสมบูรณ์พูนสุขและเจริญด้วยลาภทั้งปวงด้วยเหตุนี้ นางประจันทร์จึงตั้งชื่อให้ธิดาของปูเจ้าเขาเขียวว่า “นางกวัก” ด้วยเหตุนี้โบราณจารย์ตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน จึงพากันประดิษฐ์แต่งรูปแม่นางกวักขี้นไว้เพื่อบูชา ทั้งบรรจุอิทธิคุณและพุทธคุณต่างๆไว้ภายใน อุปมาอานิสงส์เฉกเช่นเดียวกับนางประจันทร์

ตํานานสุดท้าย

รูปปั๊นนางกวักที่คุ้นตาเราเป็นรูปปั้นหญิงสาว แต่งกายด้วยชุดไทย  ถอดแบบมาจากหญิงสาวสวยบุตรีของขุนนางผู้หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นหญิงสาวที่มีบุคลิกเรียบร้อยนุ่มนวล มีจิตใจฝักใฝ่แต่เรื่องบุญเรื่องกุศล  โดยไม่คิดมีคู่ครองแต่อย่างใด นอกจากนี้ นางยังมีฝีมือในเรื่องการทําอาหารมาก  จนเป็นที่เลื่องลือกันทั้งเมือง อาหารที่นางเป็นคนทําในงานเลี้ยงครั้งใดมักจะหมดเร็วกว่า อาหารที่คนอื่นทํา จนมีคําเปรียบเปรยว่า “หมดเร็วเหมือนนางกวัก”

ในขณะนั้น มีชายผู้หนึ่งหลงรักนางและได้ส่งคนมาสู่ขอ แต่ก็ถูกนางปฏิเสธชายผู้นั่น จึงใช้กําลังฉุดคร่านางไป ด้วยความอับอายและเสียใจ  นางจึงผูกคอตาย เมื่อชาวบ้านรู้เรื่องที่เกิดขึ้น จึงได้สรรเสริญยกย่องถึงคุณความดีของนาง และสร้างศาลเพียงตาให้ เมื่อผู้ใดต้องการความสําเร็จทาง การค้าขายก็จะมาบนบานศาลกล่าว และมักจะสําเร็จสมหวังทุกประการ

ด้วยเหตุนี้ “นางกวัก” จึงเป็นที่นับถือของผู้คนทั้งหลายในด้านการค้าขายสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ไม่ว่าตํานานใด  มีนัยเดียวกันคือ นางกวักเป็นสตรี ผู้มีเสน่ห์ตรึงใจคนและสามารถบันดาลโชคลาภแก่ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดอย่างมีเมตตา

คาถาบูชาแม่นางกวัก

นะโม 3 จบ

อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจังวุฑฒาปะจายิโน ยะไส

จะโภคะสัมปัตติ พะหู ธะนานิ วัฑฒันติ

คาถาปลูกเสกยันต์นางกวัก

สวด108 จบ

โอมทาบทาบ มหาทาบทาบ สัพพะทาบ สวาหะ ทุสะมะนิฯ

โอมเทิบเทิบ มหาเทิบเทิบ สัพพะเทิบ สวาหะ นะโมพุทธายะฯ

ขอบคุณบทความดีดีจาก หนังสือ เครื่องรางของขลัง

แนะนำบทความ   ตะกรุด คงกระพัน

 

โรงพิมพ์ เจอาร์

+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0