ทำไมต้องรู้เรื่องบัญชี
เคยมีผู้กล่าวไว้ว่า บัญชีมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับทุกย่างก้าวของชีวิตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของธุรกิจ คงเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าคุณจะถามว่า เหตุผลอะไรที่ทำให้เราต้องมาสนใจที่จะรู้เรื่องบัญชีด้วย ถ้าตอบอย่างเรียบง่ายก็คือ เพราะว่าบัญชีเป็นภาษาของธุรกิจ ถ้าเราไม่รู้จักภาษาที่ใช้
้เป็นสื่อกลางแล้วเราจะเข้าใจธุรกิจได้อย่างไร
คุณจะทราบและตัดสินใจเรื่องเงินๆทองๆ ของกิจการของคุณ ของคู่แข่ง จะรู้ว่าควรลงทุนใน โครงการใด จะทราบว่าบริษัทมีภาษีต้องเสียเท่าไร แล้วที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจไปนั้น ผลเป็นอย่างไร โครงการที่ทำอยู่น่าจะทำต่อหรือไม่ จะต้องขยายอะไรเพื่อรองรับงานก่อนหรือเปล่าหรือว่าควรจะหยุดหรือชะลอโครงการใด ปีแรกที่เราเริ่มต้นกิจการ เมื่อเทียบกับปีต่อๆมา แล้วเป็นอย่างไร ดีขึ้นหรือแย่ลง แล้วระหว่างช่วงที่เศรษฐกิจกำลังดีหรือกำลังแย่เราควร
จะทำอะไรแค่ไหนในทิศทางใด
ผมมีคำถามสั้นๆ ให้คุณลองตอบ ลองคิดดูเล่นๆ ครับ ทำไมกฎหมายกำหนดให้ทุกบริษัทต้องจัดทำบัญชี ไม่เช่นนั้นจะมีโทษทางกฎหมาย คุณเคยเห็นบริษัทที่ไม่มีการจัดทำบัญชีหรือไม่ คุณมั่นใจตัวเลขทางบัญชีที่ฝ่ายบัญชีสรุปมาให้แค่ไหน แล้วบุคคลอื่นที่ต้องการใช้งบการเงินของคุณล่ะเห็นเหมือนกับคุณหรือเปล่า เวลากู้เงินธนาคาร หลักฐานสำคัญที่ต้องนำไปเสนอธนาคารมีอะไรบ้าง
คุณตัดสินใจจากข้อมูลทางบัญชีของบริษัทหรือไม่ ถ้าไม่ใช่คุณใช้อะไรเป็นข้อมูลในการตัดสินใจคุณทราบหรือไม่ว่า กรมสรรพากรเขากำหนดให้บริษัทเสียภาษี โดยถือเกณฑ์ตัวเลขทางบัญชีีเป็นพื้นฐานในการคำนวณเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐบาล คุณกำหนดราคาขายของสินค้าหรือบริการจากอะไร
คุณทราบตัวเลขต้นทุนการผลิตของสินค้าหรือไม่ และคิดว่าตัวเลขดังกล่าวมีผลต่อการตั้งราคาขายอย่างไร เวลาเพื่อนมาชวนคุณไปร่วมลงทุน คุณใช้อะไรเป็นตัวตัดสินใจว่าจะลงทุนด้วยหรือไม่ ทำไมยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างอเมริกา จึงให้ความสำคัญกับบัญชี นักบัญชีในอเมริกา มีรายได้ประจำปี ติดอันดับต้นๆเทียบเท่านักกฎหมาย หรือแพทย์ (ทำไมไม่เห็นเหมือนในประเทศไทย)
ทำไมภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วง 2-3 ปีนี้ นักบัญชีจึงยังบ่นว่า งานยุ่งมาก ทำไมตลาดหลักทรัพย์จึงกำหนดให้นำส่งงบการเงินเป็นรายไตรมาส และรายปี เวลาที่บริษัทต้องปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้ขอดูอะไรจากบริษัทเป็นสิ่งแรกทำไมนักการเมืองต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตอนเข้ารับตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่งทำไมในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในไทย ธนาคารโลกจึงเสนอให้งบประมาณก้อนโตแก่ไทย เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนามาตรฐานการบัญชีของไทยเป็นลำดับแรก ฯลฯ
คุณเชื่อหรือไม่ว่าคำตอบของคำถามข้างบนนี้ มีนัยที่ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่า บัญชีมีความสำคัญและเข้ามายุ่งเกี่ยวกับชีวิตของเรามากพอสมควร ถ้าจะให้ผมถามต่อก็คงมีอีกหลายคำถาม แต่เอาเป็นว่าเราหยุดด้วยเครื่องหมาย ฯลฯ ดีกว่านะครับ
ในวงจรธุรกิจเริ่มตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเสร็จ ก็ต้องมีการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารมีการโอนเงินทุนเข้ามา จากนั้นก็เริ่มสั่งซื้อทรัพย์สิน อุปกรณ์เครื่องใช้ เครื่องเขียนไปจนถึงสั่งซื้อสินค้า ต้องจ่ายเงินค่าใช้จ่ายรวมทั้งซื้อสิ่งของเหล่านี้ ในช่วงเริ่มต้นกิจการก็ต้องวางแผนเรื่องเงินทุนหมุนเวียน หรือที่เรียกว่ากระแสเงินสดเข้าออกว่าลำพังเงินทุนของบริษัทนั้นเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่พอก็ต้องทำเรื่องขอวงเงินสินเชื่อ ต่อมาบริษัทจะดำเนินงานได้ก็ต้องว่าจ้างพนักงานเข้ามา จ่ายเงินเดือนให้ทุกๆเดือน ตอนจ่ายเงินเดือนบริษัทก็มีหน้าที่ต้องหักภาษีของพนักงานไว้แล้วนำส่งกรมสรรพากร ตอนเริ่มขายสินค้า ต้องมีการออกใบกำกับสินค้า ใบวางบิล และเรียกเก็บเงิน ทุกเดือนก็ต้องสรุป
ยอดขายและภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกสิ้นปีก็ต้องสรุปตัวเลขภาษีเงินได้นำส่งรัฐบาล วงจรที่ผมว่ามานี้เกิดขึ้นเป็นปกติทุกกิจการ แต่รายละเอียดอาจแตกต่างกัน หากแต่ทุกจุดในวงจรธุรกิจ
บัญชีมีบทบาทที่สำคัญในการเข้าไปดูแลและบันทึกรายการที่เกิดขึ้น แล้วแปรเปลี่ยนออกมาเป็นรายงานที่สรุปความเคลื่อนไหวเหล่านี้ออกมาในแต่ละช่วงเวลา เป็นรายเดือนรายสามเดือน หรือรายปีไม่เพียงแต่องค์กรทางธุรกิจนะครับ หน่วยงานในลักษณะอื่นเช่น มูลนิธิ สมาคม รัฐวิสาหกิจหน่วยงานราชการ หรือแม้แต่องค์กรเอ็นจีโอ (Non Government Organization)ก็ยังต้องมี การจัดทำบัญชีด้วย ก็คงด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ เมื่อมีกิจกรรมเกิดขึ้น ก็ต้องมีการบันทึก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีการรวบรวมแยกประเภท มีการวัดผล เพื่อให้รู้ถึงสถานะขององค์กรว่าได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไรและในปัจจุบันมีสถานะเป็นเช่นไร
คุณอาจจะถามต่อว่า เอาล่ะแล้วถ้าบัญชีมันสำคัญขนาดนี้ คุณจะทำอย่างไรจึงจะสามารถเข้าใจ หรือนำบัญชีมาใช้ประโยชน์ได้ ผมคิดว่าคำตอบของเรื่องนี้ไม่เรียบง่ายเหมือนคำถามแรกที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้เสียแล้ว ผมเห็นว่าเรื่องนี้คำตอบจะอยู่ที่ทั้งตัวนักบัญชีเองและผู้ใช้ประโยชน์จากบัญชี อยู่ที่ทั้งสองฝ่ายอย่างไร ผมอยากจะเปรียบเทียบให้คุณเห็นภาพอย่างนี้คือ
ถ้าเปรียบงานบัญชีเป็นงานศิลปะ นักบัญชีก็คือศิลปิน ผู้สร้างงานศิลป์ให้แก่ผู้มีสุนทรีในหัวใจศิลปินต้องสะท้อนงานให้ผู้ชมเข้าใจ และลึกซึ้งกับงานศิลปะนั้นๆ ได้อย่างแท้จริง ให้เห็นความงาม และสิ่งซึ่งศิลปินต้องการสื่อให้เห็น ให้คิด ตัวศิลปินเองต้องมีฝีมือ รู้จักการใช้้ทฤษฎีทางศิลปะ ผู้ชมงานเองถ้ามีพื้นฐาน ความเข้าใจในเชิงศิลป์อยู่บ้างก็จะได้เปรียบและเข้าใจงานว่าต้องการสื่ออะไรให้เห็น นักบัญชีจึงมีบทบาทในลักษณะเดียวกับศิลปินแต่มิได้แสดงออกโดยใช้ลายเส้น สีสัน องค์ประกอบของรูปทรง แต่แสดงออกโดยใช้ตัวเลขและรูปแบบรายงาน
ขอบคุณบทความดีดีโดย :คุณวิโรจน์ เฉลิมวัฒนา / ที่มา : http://www.payom.netfirms.com
คลิกดู การทำบัญชีมีประโยชน์ 6 ข้อ