การก่อหนี้
การกู้เงิน การเงิน

4 ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการก่อหนี้

82 / 100

ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในการก่อหนี้

ทุกวันนี้ธนาคารมีสภาพคล่องล้นระบบ แต่ไม่สามารถหาผู้กู้ที่มีคุณสมบัติดีพอที่จะปล่อยสินเชื่อให้ได้ และลูกหนี้ที่มีอยู่เดิมก็เป็น NPL เสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีเงินจะจ่ายดอกเบี้ยเช่นกัน ทําให้ธนาคารมีดอกเบี้ยจ่ายสูงกว่าดอกเบี้ยรับ จนต้องดําเนินการลดผลขาดทุนด้วยการลดดอกเบี้ยเงินฝากของประชาชน ซึ่งเป็นการผลักภาระที่หลายฝ่ายมองว่า ไม่เป็นธรรมต่อผู้ออมเงินเลย แต่จะทําอย่างไรได้ เพราะกิจการธนาคารไม่เหมือนธุรกิจอื่น จะทําการตลาดด้วยการลดแลกแจกแถมเหมือนการขายสินค้าก็ทําไม่ได้ จะปล่อยให้ขาดทุนไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้อีก เพราะถ้าเงินกองทุนติดลบเมื่อไร ก็จะเข้าข่ายต้องถูกทางการแทรกแซงทันที ในทางตรงกันข้ามภาคธุรกิจเอกชนกลับประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่มีเงินทุนที่จะนํามาหมุนเวียนทําธุรกิจ เพราะธนาคารไม่ยอมให้สินเชื่อ นับว่าเป็นการไม่สมดุลอย่างยิ่ง และน่าเสียดายโอกาสของทั้งสองฝ่ายจริงๆ การแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นที่ภาคธุรกิจที่จะต้องเตรียมตัว และแต่งตัวเอง ให้มีคุณสมบัติที่ธนาคารยินดีจะพิจารณา สิ่งใดที่เป็นจุดด้อยก็ควรจะแก้ไขเสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะพบกันได้ เพราะภายใต้เศรษฐกิจแบบนี้ การมีเพียงหลักประกัน ท่านไม่สามารถจะขอกู้เงินจากธนาคารได้อีกแล้ว ทั้งนี้เพราะธุรกิจธนาคาร ไม่ใช่การลงทุนที่ต้องการเสี่ยงต่อผลตอบแทนในระยะยาว แต่ผลตอบแทนที่ได้รับมีเพียงดอกเบี้ยส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยที่จ่ายให้ผู้ฝากเงินและดอกเบี้ยที่รับจากการปล่อยกู้เท่านั้น ฉะนั้น จะต้องจํากัดความเสี่ยงให้น้อยทีสุดเท่าที่จะทําได้ ในขณะที่ปล่อยกู้ โดยการวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ อย่างระมัดระวัง เรามาดูกันว่า ถ้าเราคิดจะก่อหนี้ ควรจะคํานึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง

การก่อหนี้

ปัจจัยแรก ความสามารถในการกู้ยืม (ความสามารถในการกู้ยืม)

คุณสมบัติทั่วไปของผู้ขอกู้ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องที่สําคัญๆ ดังต่อไปนี้

1. โครงสร้างทางการเงิน ต้องมีฐานเงินทุนจากส่วนทุนที่เพียงพอ

คําว่า โครงสร้างทางการเงิน (capital structure ) หมายถึง ส่วนประกอบของเงินทุนจากแหล่งต่างๆ กล่าวคือ หนี้และส่วนของเจ้าของ (ทุนและกําไรสะสม) ที่นําไปใช้ในการลงทุนและจัดหาสินทรัพย์เพื่อนำมาดำเนินงาน ถ้าสัดส่วนของเงินทุนจากหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของยิ่งสูง กิจการก็ยังมีความเสี่ยงทางการเงินมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าสัดส่วนของเงินทุนที่มาจากส่วนของเจ้าของยิ่งสูง ความเสี่ยงทางการเงินก็ยิ่งต่ำ เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น จะมีความมั่นคงปลอดภัยมากกว่า เพราะฐานเงินทุนจากส่วนทุนเป็นเกราะป้องกันภัย สําหรับเจ้าหนี้ของกิจการ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาและเติบโตของธุรกิจด้วย ฉะนั้น การมีฐานเงินทุนส่วนทุนที่เพียงพอจึงเป็นเงื่อนไขที่สําคัญอย่างหนึ่งในการก่อหนี้เพิ่ม การใช้แหล่งเงินทุนโดยการกู้ กิจการมีภาระผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นตามกําหนดเวลา ซึ่งถ้าหากไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหนี้ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องหรือยีดทรัพย์สมบัติของกิจการได้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าผู้กู้ได้ค้ำประกันส่วนตัวต่อการกู้ยืม ผู้ให้กู้ก็สามารถจะเรียกร้องเอาทรัพย์สินส่วนบุคคลนั้นได้ นั่นก็คือ การล้มเหลวในการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการกู้เงิน อาจหมายถึงการสูญเสียธุรกิจ และทรัพย์สินส่วนตัว ฉะนั้น สําหรับเจ้าของกิจการ จะต้องตระหนักว่า การก่อหนี้หมายถึง ข้อผูกพันที่เข้มงวดทางกฎหมาย จึงต้องใช้วิจารณญาณให้ดี ควรจะพยายามให้มีความสมดุลในโครงสร้างทางการเงินของกิจการ ระหว่างสัดส่วนของหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของ (Debt to equity ratio) โดยมีเป้าหมายคือสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากการกู้เงิน ขณะเดียวกัน ทําให้ความเสียงและต้นทุนต่ำสุด ซึ่งการบรรจุวัตถุประสงค์ดังกล่าว เจ้าของกิจการจะต้องเข้าใจและพิจารณาอย่างรอบคอบว่า กิจการควรจะก่อหนี้สินได้มากเท่าใด โดยทั่วไปแล้ว เจ้าหนี้จะไม่ยอมปล่อยกู้ให้ ถ้าปรากฏว่า จะต้องประสบกับความเสี่ยงทางการเงินสูงกว่าผู้เป็นเจ้าของ ถึงแม้จะไม่มีกฎที่ตายตัว โดยปกติธนาคารและสถาบันการเงินมักจะสบายใจที่จะให้สินเชื่อ ถ้าโครงสร้างทางการเงินของกิจการมาจากส่วนหนี้ 50% และส่วนทุน 50% หรืออัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของ = 1:1

ที่ผ่านมา ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู บริษัทส่วนใหญ่มักมีสัดส่วนของหนี้สูงกว่าส่วนทุน อาจจะ 2 : 1 , 3 : 1 หรือมากกว่า โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ มักจะมีสัดส่วนของหนี้สูง ทั้งนี้เพราะธนาคารอาจจะมองโลกในแง่ดี ไม่ให้ความสําคัญต่อความเสี่ยงดังกล่าว ถ้ากิจการของท่านมีอาการเช่นที่ว่า คือ มีสัดส่วนทางหนี้สูงอยู่แล้ว ในภาวะเช่นนี้ ธนาคารก็คงละไม่ยินดีที่จะให้ท่านกู้อีก ฉะนั้น ท่านจะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสียก่อน ซึ่งก็สามารถทําได้โดยการลดหนี้สินให้ต่ำลง หรือเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้นให้สูงขื้น หรือทําทั้งสองอย่าง เช่น เจรจาขอแปลงหนี้เป็นทุนส่วนหนึ่งจากเจ้าหนี้ ขายทรัพย์สินเพื่อชําระหนี้สินบางส่วน ผู้ถือหุ้นเดิมหรือผู้ถือหุ้นใหม่เพิ่มทุนให้มากขึ้น และงดจ่ายเงินปันผล เพื่อคงกําไรไว้ในบริษัท เป็นต้น

2. มีผลประกอบการในอดีตที่ดี และมีโอกาสที่จะประสบความสําเรจอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้เพราะความสามารถที่จะปฏิบัติตามเงื่อมไขในการกู้เงิน ขึ้นอยู่กับว่าผู้กู้มีความสามารถที่จะสร้างกําไรและกระแสเงินสดจากผลประกอบการที่ดีในอนาคตหรือไม่ ในเมื่ออนาคตเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ความเชื่อถือจึงต้องยีดจากอดีตที่เคยเป็นมา ธนาคารจึงมักต้องของบการเงินย้อนหลังอย่างน้อย 3ปี เพื่อทําการวิเคราะห์ถึงผลประกอบการด้านต่างๆ โดยเฉพาะความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดําเนินงาน เพื่อจะประเมินว่ากิจการจะสามารถมีผลประกอบการที่ดีต่อไปหรือไม่ ถ้ากิจการของท่านไม่เคยมีผลประกอบการที่ดีเลย หรือเป็นกิจการไหม่ที่การประกอบรธุรกิจยังไม่เข้ารูปเข้ารอย ก็คงจะต้องอาศัยแผนการทําธุรกิจ(Business Plan) ที่น่าเชื่อถือเป็นการทดแทน

3. มีหลักฐานแสดง ให้เห็นว่ามีการบริหารและการจัดการที่ดี

ผู้ให้กู้ที่มีประสบการณ์ จะทราบว่าทุกๆ กิจการจะมีช่วงเวลาแห่งความลําบากและยุ่งยาก และผู้บริหารที่ดีและเก่งเท่านั้นที่จะอยู่รอดแยกตัวจากผู้ล้มเหลว ฉะนั้น ธนาคารจึงมักให้ความสําคัญต่อผู้บริหารและระบบการจัดการด้วย

4. มีหลักประกันที่เพียงพอเมื่อมีความจำเป็น

เมื่ออนาคตของกิจการมีความไม่แน่นอน หรือมีปัญหาในการสร้างกําไร ผู้ให้กู้มักจะเรียกร้องให้มีหลักประกันเพิ่มขื้น เพื่อลดผลขาดทุนในกรณีที่ผู้ไม่สามารถชําระหนี้ได้ โดยทั่วไปแล้ว หลักประกันที่ดี หมายถึง สินทรัพย์สามารถควบคุมได้ทั้งในแง่กฎหมายและกายภาพ สามารถไถ่ถอนได้ง่าย และสามารถขายได้ในตลาดที่มีราคาแน่นอนพอสมควร ตัวอย่างเช่น สินทรัพย์ประเภทพันธบัตร ใบหุ้นของหุ้นทีซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ สมุดเงินฝากที่ดินและอาคาร อุปกรณ์บางชนิด ลูกหนี้ และสินค้าคงคลัง เป็นต้น

ปัจจัยที่สอง ความสามารถในการชำระคืน (Ability to repay)

เป้าหมายที่ธนาคารต้องการคือ ปล่อยกู้แล้ว ผู้กู้มีความสามารถที่จะชําระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนตามกําหนด ซึ่งจะไม่เป็นปัญหาในกรณีที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองและธุรกิจไปได้ดี

สิ่งที่ผู้ให้กู้ห่วงกังวลมากที่สุดคือ ความสามารถของกิจการที่จะชําระหนี้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ฉะนั้น ทั้งผู้ขอกู้และผู้ให้กู้ควรจะพิจารณาว่า กระแสเงินสดที่คาดว่าจะทําได้เพื่อการชําระหนี้ในช่วงภาวะที่เศรษฐกิจถดถอยมีจํานวนเท่าใด เพื่อจะกําหนดถึงจํานวนหนี้สูงสุดที่กิจการสามารถจะกู้ได้

ฉะนั้น การบริหารกระแสเงินสดของกิจการจึงมีความสําคัญอย่างยิ่ง ถึงแม้หลักประกันจะดีเพียงไร มีมูลค่าสูงเพียงใด แต่ถ้ากิจการไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้เพียงพอที่จะชําระหนี้ได้ ธนาคารก็คงจะไม่สามารถปล่อยกู้ให้ได้ เพราะนั่นหมายถึง ต้องบังคับขายหลักประกันมาชำระหนี้ ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายหลักในการทําธุรกิจของธนาคาร แต่เป็นเหตุสุดวิสัย

ปัจจัยที่สาม ความเสี่ยงทางธุรกิจ (The business risk)

ซึ่งหมายถึง สิ่งแวดล้อมที่ไม่แน่นอนที่มีผลกระทบต่อการสร้างกําไรและกระแสเงินสดของกิจการ แต่ละธุรกิจ มีระดับทางความเสี่ยงแตกต่างกันไป โดยทัวไปแล้ว ธุรกิจจะมีความเสี่ยงสูงเมื่อ :

* ยอดขายและกําไรมีความผันผวนสูง ตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือค่านิยมตามแฟชันอยู่ตลอดเวลา

* โครงสร้างต้นทุนของกิจการ มีสัดส่วนของต้นทุนคงที่ (fixed cost) สูง เนื่องจากต้นทุนคงที่ไม่ยืดหยุ่น ไม่สามารถปรับลดลงเมื่อกิจการประสบปัญหายอดขายตกได้

* กิจการไม่สามารถควบคุมราคาขายและต้นทุนของทรัพยากรที่ใช้ หรือควบคุมได้เพียงเล็กน้อย ในกรณีเช่นนี้ ผลกําไรจะขื้นอยู่กับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก แทนที่จะควบคุมโดยฝ่ายบริหาร

ถ้าความเสี่ยงทางธุรกิจสูง ผู้ให้กู้จะระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น และคาดหวังที่จะให้กิจการมีแหล่งเงินทุนจากส่วนของเจ้าของสูงกว่าจากส่วนหนี้พร้อมทั้งต้องการให้มีหลักประกันมากกว่าปกติด้วย

ปัจจัยที่สี คุณภาพสินทรัพย์ (Quality of Asset)

ในกรณีที่ทุกอย่างล้มเหลว ผู้กู้ไม่สามารถชําระหนี้ได้ เจ้าหนี้ก็จะหันกลับมาที่สินทรัพย์ของกิจการ เพื่อชดเชยกับภาระที่ไม่ได้รับชําระ คุณภาพของสินทรัพย์ที่ใช้ค้ำประกันจึงมีความสําคัญเช่นกัน

โดยทั่วไปแล้ว สินทรัพย์ที่สามารถขายได้ง่ายและมีราคาสูง มักจะมีมูลค่าเป็นหลักประกันสูงด้วย และผู้ให้กู้ก็ยินดีที่จะให้กู้มากกว่า ในภาวะปกติ สินทรัพย์ที่มีตัวตน เช่น ที่ดิน อาคาร หลักทรัพย์ตราสารทางการเงิน จะใช้เป็นหลักประกันได้ดีกว่าสินทรัพย์ประเภทที่ไม่มีตัวตน เช่น ลิขสิทธิ สิทธิบัตรหรือโอกาสในการเจริญเติบโตเป็นต้น และสินทรัพย์ที่ปลอดจากภาระใดๆ กับเจ้าหนี้อื่น ก็จะเป็นที่ยอมรับของธนาคารมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้กู้จะไม่มีทางพิจารณาถือเอาหลักประกันที่ดี ทดแทนความสามารถในการชําระคืนของผู้ขอกู้อย่างแน่นอน เพราะในแง่ผู้ให้กู้ หลักประกันเป็นเพียงเครื่องมือประกันความเสียง เพื่อลดภาระขาดทุนในกรณีที่แผนการดําเนินธุรกิจของผู้ขอกู้ ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ และไม่สามารถชําระหนี้ได้ ผู้ให้กู้จะไม่ปล่อยกู้ ถ้ามีความเป็นไปได้ แต่แรกว่า หลักประกันจะต้องถูกยีดและนําออกขายในที่สุด ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนที่จํากัดที่ธนาคารได้รับไม่เพียงพอที่จะชดเชยความเสี่ยง ต้นทุน และความวุ่นวายที่เกิดจากการปล่อยกู้ดังกล่าว

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่า ทําไมปัจจุบันธนาคารจึงไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจ เพราะจากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว กิจการจะต้องมีความพร้อมหลายด้าน ที่จะแสดงให้ผู้ให้กู้เชื่อถือได้ว่า การปล่อยกู้นั้น ไม่เสี่ยงจนเกินไป และสามารถจะชําระคืนได้ตามเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อจะให้ความสําคัญต่อความสามารถของกิจการในการสร้าง กระแสเงินสดสุทธิที่เป็นบวก (positive cash flow) มากกว่าหลักประกันแต่เพียงอย่างเดียว ฉะนั้น ท่านผู้อ่านที่ประสงค์จะขอสินเชื่อจากธนาคารในยุคนี้ จะต้องบริหารกิจการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และทําให้ธนาคารเชื่อได้ว่า ท่านจะสามารถชําระคืนได้ด้วยเงินสด ไม่ใช่ด้วยการยึดหลักประกัน

ขอบคุณบทความดีดีจาก คุณ พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

แนะนำบทความ    เงินขาดมือ 7 วิธีช่วย

 

โรงพิมพ์ เจอาร์

+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0