จุดเด่น จุดด้อย ของธุรกิจครอบครัว
เมื่อเร็วๆ นี้ มีคนในแวดวงใกล้ตัวผู้เขียนปรารภให้ฟังถึงความปรารถนาของพวกเขา ที่อยากจะลาออกจากการทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท มาเปิดธุรกิจของตนเองร่วมกับญาติพี่น้องในครอบครัว อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังมีความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ปนกันอยู่ จึงมีการกริ๊งกร๊างมาตามสายว่า ถ้าหากจะทำธุรกิจครอบครัวขึ้นมา มันมีข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของการวางระบบบริหารโดยทั่วไปและการบริหารคน
แหม! เจอคำถามง่ายๆ ตรงๆ แต่ตอบให้ดีได้ยากแบบนี้ ผู้เขียนก็ต้องทำการบ้านกันหน่อยละค่ะ และเมื่อได้ทำการบ้านค้นคว้าข้อมูลต่างๆ มาพอสมควรที่จะให้คำตอบแก่พวกเขาได้แล้ว ผู้เขียนเลยถือโอกาสนี้นำความรู้ เรื่องจุดเด่น จุดด้อยของธุรกิจครอบครัวมาเล่าให้บรรดาแฟนๆ คอลัมน์ได้อ่านด้วยเสียเลย เผื่อจะมีบางท่านคิดจะเปิดธุรกิจครอบครัวเป็นของตนเองขึ้นมา จะได้เตรียมวิทยายุทธ์ในการบริหารไว้แต่เนิ่นๆ
จะเห็นได้ว่า ธุรกิจครอบครัว (Family Business) นี้ แม้ชื่อจะจำกัดว่าเติบโตมาจากครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยเล็กๆ หน่วยหนึ่งของสังคม แต่ความสำคัญและความแข็งแกร่งของธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นเรื่องที่มิอาจมองข้ามได้เลย เพราะธุรกิจครอบครัวนี่แหละที่เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของนานาประเทศแทบทั้งสิ้น ยกตัวอย่างในประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทที่เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว เช่น ฟอร์ด ดิสนีย์ เอสเต ลอเดอร์ เป็นต้น ในประเทศญี่ปุ่นก็มีบริษัท โตโยต้า พานาโซนิค ในเกาหลีใต้ก็มีบริษัท ซัมซุง โคเรียนแอร์ ในประเทศจีนก็มีบริษัท ลีกุมกี ของไทยเราก็มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ กลุ่มสหพัฒน์ เป็นต้น ซึ่งบริษัททั้งหลายที่เอ่ยนามมานี้ ล้วนเป็นบริษัทที่เจ้าของกิจการแต่ดั้งเดิม คือหัวหน้าครอบครัวที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์ มีมานะบากบั่นพากเพียรสู้ยิบตาในการริเริ่มธุรกิจ โดยมีสมาชิกในครอบครัวร่วมแรงร่วมใจกันบริหารกิจการจนเติบโต ขยายขนาดธุรกิจออกไปจนต้องจ้างมืออาชีพจากภายนอกมาช่วยบริหารงาน และบางบริษัทก็กลายเป็นบริษัทมหาชนที่ครอบครัวผู้เป็นเจ้าของกิจการแต่ดั้งเดิมได้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นเจ้าของ และเป็นผู้บริหารกลายเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแทน
จุดเด่นของธุรกิจครอบครัวมีอะไรบ้าง?
จากตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวในหลายต่อหลายประเทศ ทำให้อนุชนรุ่นหลังอยากเลียนแบบบรรพบุรุษบ้าง เพราะมองเห็นจุดดีของธุรกิจครอบครัวอยู่หลายประการ อันได้แก่
1) ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Unity) ของสมาชิกในครอบครัว การที่พนักงานในบริษัทเป็นคนในครอบครัวหรือวงศาคณาญาติของตนเองนั้น หมายความว่าสมาชิกของบริษัทย่อมมีความคุ้นเคยกันมาก รู้จักนิสัยใจคอกันดี ได้รับการอบรมเลี้ยงดูโดยบรรพบุรุษสายเลือดเดียวกัน ดังนั้น เรื่องของความขัดแย้งจึงน่าจะมีน้อยกว่าคนนอกครอบครัว ในแง่ของการบริหารจึงน่าจะง่ายขึ้นสำหรับผู้บริหาร เข้าทำนอง “ว่าอะไร ว่าตามกัน” เรื่องที่จะขัดแย้ง หรือขัดคำสั่ง หรือทำงานไม่ประสานงานกันน่าจะไม่มีปัญหา
2) ธุรกิจครอบครัวจะมีวัฒนธรรมองค์กร (Organization Culture) ที่แข็งแกร่ง เนื่องจากสมาชิกขององค์กรเป็นคนในครอบครัวเดียวกันดังที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น คนในตระกูลเดียวกันจึงมักมีความเชื่อ ค่านิยมในแบบเดียวกัน เช่น ค่านิยมเรื่องการเคารพอาวุโส การซื่อสัตย์ต่อลูกค้า การดูแลพนักงานแบบคนในครอบครัว แบบไม่ทอดทิ้งกัน เป็นต้น เมื่อคนรุ่นปู่รุ่นตาที่ได้ก่อตั้งบริษัทมีแนวนโยบายในการบริหารเช่นใด ก็มักจะถ่ายทอดความคิดนั้นมายังลูกหลานให้ช่วยสืบทอดยึดมั่นในหลักการนั้นๆ ด้วย ความเชื่อฟังและความภาคภูมิใจในตัวบรรพบุรุษนี่เอง ที่ทำให้สมาชิกรุ่นหลังจะดำรงรักษาวัฒนธรรมของครอบครัวเอาไว้ เว้นเสียแต่ว่าความคิดนั้นๆ ไม่สามารถนำมาใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันได้จริงๆ จึงจะยอมเปลี่ยน
การที่องค์กรมีวัฒนธรรมแข็งแกร่งจะเป็นจุดเด่นที่ช่วยสร้างกรอบความคิดและพฤติกรรมในการทำงานให้เป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน จึงถือได้ว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพชนิดหนึ่งในการควบคุมคุณภาพ (Quality Management) และการบริหารเพื่อสร้างผลงาน (Performance Management) ที่ต้องการ
3) ความซื่อสัตย์และการรักษาความลับ (Loyalty and Confidentiality) การทำธุรกิจครอบครัวนั้น มีข้อได้เปรียบสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ผู้บริหารสามารถไว้วางใจคนในครอบครัวในเรื่องความซื่อสัตย์ได้มากกว่าบุคคลภายนอก การรั่วไหลของเงินทอง การสูญเสียของข้าวของเครื่องใช้สำนักงานน่าจะเกิดขึ้นน้อยกว่า เพราะคนในครอบครัวจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาห่วงใยทรัพย์สินของบริษัทมากกว่า นอกจากนั้น การรักษาความลับของบริษัทก็น่าจะทำได้ดีกว่าบุคคลภายนอก เช่น สูตรลับ หรือเคล็ดลับในการผลิตสินค้าก็จะถูกรักษาไว้เป็นอย่างดี ไม่รั่วไหลไปเข้าหูบุคคลภายนอก
4) ความทุ่มเทให้กับงานและความรับผิดชอบเป็นเจ้าของงาน (Devotion and Intrapreneurial Spirit) เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวมักมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการอยู่ด้วย ทำให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของกิจการ ความรู้สึกว่าตนเองมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของนี่เอง ที่จะทำให้สมาชิกแต่ละคนมีความห่วงใยบริษัทมากขึ้น ทำให้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และมีความรับผิดชอบทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งความรู้สึกเป็นเจ้าของและทำงานด้วยจิตใจที่มีความเป็นเจ้าของกิจการนี้ เรียกว่า Intrapreneurial Spirit
ทั้ง 4 ประการข้างต้นนี้ คือข้อได้เปรียบของการทำธุรกิจที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นพนักงาน หรือร่วมทำงานในองค์กรเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจครอบครัวก็มีจุดอ่อนอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการในครอบครัวควรใส่ใจแก้ไข หรือเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังจะได้เล่าให้ฟังในลำดับต่อไปนี้
จุดด้อยของธุรกิจครอบครัวมีอะไรบ้าง?
1) เรื่องของอารมณ์ (Emotion) เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ เมื่อความเป็นคนกันเองในครอบครัวเดียวกันทำให้เกิดความคุ้นเคย แต่ถ้ามีความคุ้นเคยมากไปก็อาจจะทำให้ละเลยเรื่องความเกรงใจกัน ลองสังเกตดูสิคะว่าคนเรานั้นมักไม่ค่อยเกรงใจคนใกล้ชิดในครอบครัวเดียวกันสักเท่าไร นึกอยากจะพูดอะไรก็พูด อยากทำอะไรก็ทำ เพราะถือว่าคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้แหละอาจทำให้เกิดความบาดหมางผิดใจกันได้ง่ายกว่าคนนอกเสียอีก ดังนั้น ต้องระวังเรื่องอารมณ์ให้ดี ยิ่งเป็นสามีภรรยา หรือพ่อแม่ลูกกันยิ่งต้องเกรงใจกันไว้หน่อย อย่านึกว่าเป็นลูกของเราแล้วจะสั่งเขาอย่างไรก็ได้ ต้องแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานให้ออก อย่าเอาเรื่องในบ้านมาปนกับงานในออฟฟิศนะคะ
2) ระวังอย่ายึดติดกับค่านิยมเก่าๆ จนไม่ยอมเปลี่ยนแปลง การที่องค์กรมีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งเป็นเรื่องดี แต่การที่ผู้บริหารยึดมั่นกับคำสอนเก่าๆ หรือความเชื่อดั้งเดิมของบรรพบุรุษจนไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไรเลย ไม่ว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนไปแล้วนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควร อย่ากลัวจนเกินไปว่าถ้าเปลี่ยนแปลงค่านิยมไปบ้างจะทำให้เสียภาพลักษณ์เดิมๆ การปรับเปลี่ยนนั้นสามารถทำได้ในหลายลักษณะโดยที่ไม่ส่งผลกระทบลบล้างค่านิยมเดิมๆ จนหมดไป
3) ปากมีหู ประตูมีช่อง ถึงแม้คนในครอบครัวจะเป็นที่น่าไว้วางใจได้ ก็ต้องระวังในระดับหนึ่ง ผู้บริหารจึงพึงใช้วิจารณญาณว่าสมาชิกคนใดในครอบครัวมีอัธยาศัยใจคออย่างไร เพราะตอนรักกันก็ดีอยู่ แต่พอโกรธกันก็สามารถแฉความลับทำได้แสบมากกว่าคนนอกเสียอีก ดังนั้น ต้องเลือกไว้วางใจคนให้เหมาะสมกับเรื่อง
4) อย่าคาดหวังกับคนในครอบครัวมากเกินไป จริงอยู่ที่คุณจะสามารถคาดหวังให้คนในครอบครัวทุ่มเทกับกิจการงานมากกว่าพนักงานคนนอก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะสามารถเรียกร้องหรือสั่งการพวกเขาโดยไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีเวล่ำเวลา นึกอยากจะสั่งงานตอนเที่ยงคืนก็โทรศัพท์ไปปลุกเขาเลยเพราะถือว่าเป็นญาติของตนเอง ขอให้ใช้ความระมัดระวังในจุดนี้ให้มาก เพราะมันอาจรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเขาจนสุดจะทนแล้ว เลยโบกมืออำลาจากบริษัท และ…อำลาจากครอบครัวด้วยก็ได้!
5) รับคนนอกเข้ามาทำงานเพื่อรับความคิดใหม่ๆ แม้ลูกหลานของคุณจะเก่งกาจจบการศึกษามาจากเมืองนอกเมืองนาทุกคน ก็อย่าได้คิดว่าลำพังลูกหลานของคุณก็เก่งพอ รอบรู้พอ ที่จะบริหารธุรกิจแล้ว ขอให้เปิดใจรับคนนอกมาทำงานแล้วก็เปิดโอกาสให้คนนอกได้รับการเลื่อนขั้นทำงานในตำแหน่งสูงๆ ด้วย อย่าเก็บตำแหน่งสูงๆ ให้เฉพาะคนในครอบครัวของคุณเท่านั้น เพราะมิฉะนั้นจะไม่มีมืออาชีพฝีมือดีๆ จากข้างนอกมาทำงานให้คุณ การเปิดรับคนนอกมาทำงาน ทำให้คุณมีมุมมองใหม่ๆ จากภายนอกมาช่วยเสริมวิสัยทัศน์ของครอบครัวให้ดีขึ้น กว้างขึ้นกว่าเดิม
ข้อควรระวัง 5 ประการที่กล่าวมานี้ คงจะช่วยทำให้เจ้าของกิจการครอบครัวทั้งหลายหรือผู้ที่คิดจะเปิดธุรกิจครอบครัวได้ตระหนักถึงจุดเด่น และข้อควรระวังในการบริหารธุรกิจครอบครัว โดยสามารถดึงจุดเด่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์และพยายามลบจุดด้อยให้สำเร็จ ทั้งนี้ คุณจะได้สามารถบริหารธุรกิจครอบครัวแบบมืออาชีพได้ยังไงล่ะคะ
ขอบคุณบทความดีดีโดย : รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอบคุณบทความดีดีจาก : http://www.thaihomemaster.com
แนะนำบทความ เริ่มต้นธุรกิจด้วยแผนธุรกิจ