ทำไมต้องวางแผนการเงิน
การเงิน t

ทำไมต้องวางแผนการเงิน

81 / 100

วางแผนการเงิน

ทำไมต้องวางแผนการเงิน

การวางแผนการเงินว่ามีความสำคัญอย่างไร ใครบ้างจำเป็นต้องวางแผนการเงิน การวางแผนการเงินเป็นเรื่องของคนที่มีเงินเหลือเท่านั้นหรือ คนที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายต้องวางแผนการเงินหรือไม่ และหากต้องการวางแผนการเงินด้วยตนเอง สามารถทำได้ไหม ทำอย่างไร

เพราะว่าชีวิตของเรามีความไม่แน่นอน ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง มีความท้าทายอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องวางแผนชีวิตและปรับเปลี่ยนแผนอยู่ตลอดเวลา การวางแผนการเงินเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนชีวิต และอาจกล่าวได้ว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด ในสังคมที่ใช้เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ

การวางแผนการเงิน ช่วยให้เราสามารถวางแผนชีวิตในปัจจุบันและอนาคตได้ดีขึ้น มีทางเลือก และวิเคราะห์ทางเลือกได้

การวางแผนการเงิน จำเป็นสำหรับทุกคนที่ต้องการวางแผนชีวิตให้ดี ไม่ขลุกขลัก ทำให้เกิดความมั่นคง แผนชีวิตรวมถึงการซื้อบ้าน แต่งงาน เลี้ยงดูลูก วางแผนการศึกษาให้ลูก ทำประกันชีวิตและทรัพย์สิน เก็บเงินเพื่อการเกษียณ การลงทุน และการวางแผนมรดกและภาษี

ในสมัยก่อน ผู้ที่สนใจวางแผนการเงินมักเป็นผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง และส่วนใหญ่จะวางแผนเพื่อจัดการมรดกและภาษี ส่วนคนทั่วไปก็เป็นสังคมเกษตรกรรม คือไม่ว่าอย่างไรก็มีกิน เรื่องมีใช้นั้นอาจจะติดขัดบ้าง สบายบ้าง ก็แล้วแต่สภาพ หรือหากทำงานเป็นข้าราชการ ซึ่งมีรัฐคอยดูแลสวัสดิการให้ตลอดชีวิต

แต่ในปัจจุบัน คนทำงานเป็นลูกจ้างรับเงินเดือนกันมากขึ้น แม้จะมีสวัสดิการ แต่ก็ไม่ได้รับไปตลอดชีวิต ซึ่งแม้จะทำงานในภาครัฐในปัจจุบัน ก็ไม่ได้รับสวัสดิการตลอดชีวิตแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ คนเรายังอายุยืนมากขึ้น หากวางแผนชีวิตและแผนการเงินไม่ดี นอกจากตัวเองจะลำบากแล้ว ลูกก็จะลำบากด้วย

จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2550 ประเทศไทยมีประชากรสูงวัย คืออายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วน 8.2% ของประชากรทั้งหมด และมีประชากรในวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน คือวัย 15-64 ปี จำนวน 70.2% ส่วนประชากรวัยเด็กคืออายุต่ำกว่า 14 ปี เป็นสัดส่วน 21.6% แต่ในปี 2580 คืออีก 30 ปีข้างหน้า เราจะมีสัดส่วนของผู้สูงวัยเพิ่มเป็น 15.6% ของประชากรทั้งหมด และมีวัยหนุ่มสาวและวัยทำงาน 67.4% ส่วนอีก 17.2% จะเป็นวัยเด็ก จะเห็นว่าสัดส่วนวัยทำงานลดลง แปลว่าในปัจจุบัน หากมีประชากร 100 คน จะเป็นคนทำงานเพื่อหาเลี้ยงผู้สูงวัยและเด็ก 70 คน แต่ในอนาคต จะมีคนทำงานเพียง 67 คนเท่านั้น และเมื่อสัดส่วนของเด็กลดลงไป สัดส่วนของคนทำงานในอนาคตต่อๆ ไปข้างหน้าก็จะลดลงไปด้วย คนที่อยู่ในวัยทำงานในปัจจุบันซึ่งจะกลายเป็นผู้สูงวัยในอนาคต จึงต้องเตรียมวางแผนชีวิตและวางแผนการเงินเพื่อเลี้ยงดูตัวเองในยามสูงวัย

การวางแผนการเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะทำ และเริ่มทำได้เร็วที่สุดก็จะเป็นประโยชน์มากที่สุด จะเริ่มจากวัยเด็กที่เก็บค่าขนมบางส่วนเอาไว้ซื้อของชิ้นใหญ่ที่อยากได้ หรือจะเริ่มตั้งแต่วันที่เริ่มมีรายได้ก็ยังถือว่าเริ่มเร็ว เพราะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า “สภาพัฒน์” ได้เปิดเผยข้อมูลล่าสุดว่า ครัวเรือนเกือบ 50% ที่รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข แปลว่าต้องกระเบียดกระเสียร และต้องกู้ยืมมาใช้จ่ายหรือซื้อของ โดยหนี้สินของครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 82,485 บาทต่อครัวเรือนในปี 2545 เป็น 116,585 บาทต่อครัวเรือนในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นถึง 9.33% ในช่วงเวลา 4 ปี

หากเราไม่มีการวางแผนการเงิน ครัวเรือนของเราก็อาจเป็นหนี้มากขึ้น และไม่สามารถหลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งหนี้ไปได้ เพราะการกู้ไม่ได้เป็นการกู้ยืมมาลงทุนเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต แต่มีการกู้ยืมส่วนหนึ่งที่กู้มาใช้จ่าย

การวางแผนการเงินสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย มี 2 ทางเลือกคือ การพยายามตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น กับการต้องทำงานพิเศษเพื่อหารายได้เสริม ทางเลือกและการตัดสินใจนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงินค่ะ

สำหรับกลุ่มที่มีเงินเหลือ จำเป็นต้องวางแผนการเงินเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง เมื่อหยุดทำงานแล้วจะได้สบาย นอกจากนี้ การวางแผนการเงินมิได้จำกัดเฉพาะแผนส่วนบุคคล แต่ยังครอบคลุมไปถึงการวางแผนการเงินสำหรับธุรกิจด้วย

การวางแผนการเงินไม่ว่าจะเป็นเงินมากเงินน้อย ก็มีหลักการคล้ายๆ กัน คือ มีการตั้งเป้าหมายการเงินที่วัดได้ และมีความเป็นไปได้ เมื่อนำไปปฏิบัติแล้วก็ต้องทบทวนแผนและสถานะเป็นระยะๆด้วย แผนการเงินนั้นสามารถวางได้เอง หากมีความรู้ความชำนาญเพียงพอ หรือสามารถให้ผู้วางแผนวางให้ได้ค่ะ ในสัปดาห์หน้าเรามาติดตามกันว่าหากจะวางแผนการเงินเองจะต้องทำอย่างไร และผู้วางแผนมืออาชีพมีไหม จะใช้บริการได้อย่างไร มีประโยชน์อย่างไรที่จะใช้บริการ

ขอบคุณบทความดีดีโดย : คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 23 กรกฎาคม 2550

โรงพิมพ์ เจอาร์

โรงพิมพ์ เจอาร์

12 วิธีใช้เงินอย่างฉลาด

+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0
+1
0