5 รู้ : เมื่อถูกสรรพากร ตรวจสอบประเมินภาษี
ท่านควรรู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อท่านถูกกล่าวหาว่าเสียภาษีไม่ถูกต้องหรือถูกตรวจสอบประเมินภาษี
ผู้เสียภาษีหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมี 5 ร ที่ต้องรู้อยู่ 5 ร ด้วยกันเพื่อที่พร้อมรับหรือชี้แจงหรือต่อสู้เมื่อมีการตรวจสอบประเมินภาษีอากรนั้นได้อย่างดี
ผู้เขียนได้กล่าวถึงบัญญัติ 10 ประการเกี่ยวกับเมื่อถูกประเมินภาษีว่า ผู้เสียภาษีควรจะทำเช่นไร ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการ การชี้แจง รวมทั้งการอุทธรณ์และการประเมินภาษีต่างๆ ของกรมสรรพากร
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าในการเตรียมตัวเมื่อถูกประเมินภาษีนั้น ผู้เสียภาษีหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องมี 5 ร ที่ต้องรู้อยู่ 5 ร ด้วยกันเพื่อที่พร้อมรับหรือชี้แจงหรือต่อสู้เมื่อมีการประเมินภาษีอากรนั้นได้อย่างดี
รู้ ที่ 1 คือ รู้กฎหมาย คำวินิจฉัยของกรมสรรพากรและคำพิพากษาในประเด็นภาษีดังกล่าวผู้ที่ถูกประเมินภาษีจะต้องมีความรู้ ประเด็นกฎหมายว่าตามกฎหมายท่านมีข้อต่อสู้ทางกฎหมายหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายในการประเมิน
การรู้ประเด็นข้อกฎหมายตลอดจนคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรและคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยที่เกี่ยวกับประเด็นที่ถูกประเมินนั้น จะทำให้ท่านสามารถต่อสู้หรือเจรจากับเจ้าพนักงานประเมินได้หรือไม่
เป็นที่ยอมรับกันว่า การประเมินภาษีในบางครั้ง แม้ผู้เสียภาษีจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินเป็นประโยชน์ เจ้าหน้าที่ประเมินภาษีก็อาจจะไม่ยอมรับหรือปฏิบัติตามคำพิพากษาได้เพราะอาจจะอ้างว่าเหตุและข้อเท็จจริงอาจจะไม่ตรงกัน และอาจจะให้ผู้เสียภาษีต้องให้นำเรื่องดังกล่าวไปสู่ศาลได้อีก
แต่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ประเมินอาจจะยอมรับฟังคำวินิจฉัยของกรมสรรพากร ซึ่งได้ตอบไว้ในประเด็นดังกล่าว อาจจะเป็นคำวินิจฉัยโดยเฉพาะหรือคำวินิจฉัยทั่วไป หรือหนังสือเวียนของกรมสรรพากร
ดังนั้น ผู้ที่ถูกประเมินจำเป็นจะต้องมีความรู้และความเข้าใจคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรและคำพิพากษาตลอดจนกฎหมายนั้นเป็นอย่างดี ปัจจุบันผู้ถูกประเมินภาษีสามารถค้นคว้าคำวินิจฉัยนั้นได้จาก website กรมสรรพากร หรือ website ของศาลภาษีอากรกลางที่มีคำพิพากษาฎีการวบรวมไว้
การรู้กฎหมาย คำวินิจฉัย คำพิพากษานั้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการประเมินโอกาสของผู้เสียภาษีและอธิบายชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ได้
รู้ ที่ 2 คือ รู้สิทธิตามกฎหมายก็คือ หลังจากรู้กฎหมายแล้ว ต้องรู้ว่าผู้เสียภาษีมีสิทธิตามกฎหมายอย่างไร เช่น การรู้สิทธิตามกฎหมายต้องตรวจสอบดูว่า การประเมินต้องชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องพิจารณาว่าการประเมินของเจ้าหน้าที่ประเมินนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สิทธิของผู้เสียภาษีในการขอลดเบี้ยปรับได้ แม้ว่าจะขอลดเงินเพิ่มไม่ได้ แต่ว่าจะมีการลดเงินเพิ่มในบางกรณีเมื่อมีการขยายระยะเวลาการชำระภาษี สิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยการประเมินของเจ้าพนักงานต่อพนักงานอุทธรณ์ และฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง
การใช้สิทธิมีกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติ ผู้ถูกประเมินจึงต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนในการใช้สิทธิตามกฎหมาย
รู้ ที่ 3 คือ รู้แนวทางการประเมินของกรมสรรพากรว่า จะประเมินเรื่องอะไร ในทางปฏิบัติกรมสรรพากรเน้นหนักเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่ายถูกต้องหรือไม่ จึงต้องดำเนินการให้ผู้จ่ายหักให้ครบ รายจ่ายที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
รู้ ที่ 4 คือ รู้เขา รู้เรา ข้อนี้สำคัญมาก เพราะว่าเมื่อมีการประเมิน ผู้เสียภาษีอย่าตกใจหรือกลัวเกินไปกว่าเหตุ หรือแสดงความโกรธหรือไม่พอใจต่อเจ้าพนักงานประเมิน เพราะความจริงแล้วเจ้าหน้าที่สรรพากรก็เป็นข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่ เราก็ต้องรู้ว่าท่านต้องปฏิบัติตามหน้าที่ โดยควรเข้าใจและทำความรู้จักว่าท่านเป็นคนแบบใด และมีแนวคิดหรือเหตุผลอย่างไร และผู้ถูกประเมินควรให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ เป็นมิตรกับกรมสรรพากร ชี้แจงอย่างมีเหตุมีผล อย่าคิดว่าเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเป็นศัตรูฝ่ายตรงข้าม เพราะโดยหลักการแล้ว กรมสรรพากรก็เห็นว่าผู้เสียภาษีเป็นลูกค้ารายหนึ่ง การพูดคุยอย่างมีเหตุมีผล โปร่งใส ชัดเจน ก็จะทำให้สามารถตกลงกันได้ง่ายขึ้น ข้อสำคัญคืออย่าใช้ประเด็นกฎหมายเพียงอย่างเดียว ต้องรู้จักประเมินสถานการณ์ว่า การถูกประเมินนั้นเป็นการผิดพลาดทางเทคนิค หรือเป็นการผิดพลาดโดยจงใจของผู้เสียภาษี เพราะถ้าหากเป็นการผิดพลาดทางเทคนิค หรือผิดพลาดโดยไม่จงใจแล้ว ก็สามารถเจรจาต่อรองให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรลดหย่อนได้เช่นกัน แต่ถ้าผู้เสียภาษีปฏิบัติถูกต้องก็ควรค่อยๆ อธิบายอย่างสมเหตุสมผล และที่สำคัญคือ ต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ด้วย
ต้องยอมรับว่าผู้เสียภาษีต้องอยู่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สรรพากรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การรู้เขารู้เราที่ต้องอยู่อย่างเป็นมิตร รู้ว่าเจ้าหน้าที่แต่ละท่านมีทัศนคติอย่างไร และมีใครบ้างที่พอจะรู้จักฝากฝังเพื่อการพูดคุย ตลอดจนเจรจาต่อรองจะสามารถทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและจริยธรรม
และ “รู้” ข้อ 5 คือ รู้ วิธีการเตรียมการ เมื่อถูกประเมินแล้ว ก็จะต้องมีการเตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เตรียมคำให้การ แนวทางกฎหมาย คำวินิจฉัย คำพิพากษาของศาลเพื่อสนับสนุนการตีความ ตรวจสอบว่าเงื่อนไขที่จะขอยกเว้นนั้นจะครบถ้วนหรือไม่ โดยต้องปรึกษานักกฎหมายภาษีที่มีความรู้ความสามารถในการเตรียมการ
5 รู้ ที่ผู้เขียนแนะนำให้กับท่านผู้เสียภาษีนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เสียภาษีสามารถนำไปใช้ได้ และสามารถใช้ประโยชน์เมื่อมีการถูกประเมินภาษีจากเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ ผู้เขียนเชื่อว่าการเตรียมการให้พร้อม การศึกษาหาความรู้ในเรื่องภาษีอากรของผู้เสียภาษีนั้น เป็นเรื่องที่ผู้เสียภาษีต้องมี 5 ร โดยทำงานร่วมกับนักกฎหมายภาษีนั้นอย่างใกล้ชิด ถ้าหากท่านผู้อ่านสามารถปฏิบัติตามบทความและแนวทางที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้นี้แล้ว การประเมินภาษีก็ไม่ใช่เรื่องที่จะกวนใจท่านอีกต่อไป แต่หากจะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการถูกประเมินภาษีได้ก็จะดีที่สุด โดยพยายามปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายให้มากที่สุด
ขอบคุณบทความดีดี จาก : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551 และ 30 กันยายน พ.ศ. 2551
คลิกเพื่อดู โรงพิมพ์ JR
สรรพากรเข้าตรวจภาษี จะทำอย่างไร