จะจดทะเบียนตั้งบริษัทเอง ทำอย่างไร
ผู้ที่คิดประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือการให้บริการ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ย่อมต้องการจะให้ธุรกิจของตนเองประสบความสำเร็จ ทำกำไรให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่จะเข้าสู่วงจร ของการประกอบธุรกิจ คือ การเตรียมตัวที่ดี ต้องรู้ว่าตนเองถนัดทำอะไร ลักษณะใด ความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง จะต้องติดต่อกับหน่วยงานราชการใด และภาระภาษีของธุรกิจนั้นมีอะไรบ้าง สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะต้องมีการวางแผน และการจัดการที่ดี ก่อนที่จะเริ่มจัดทำธุรกิจ
ข้อกังวลเบื้องต้น ก่อนจดทะเบียนตั้งบริษัท
ปัญหาประการหนึ่ง ของผู้ที่จะเริ่มประกอบธุรกิจทั้งหลายมีความหนักใจ กังวล และลังเลในการตัดสินใจคอ จะเริ่มธุรกิจในลักษณะใด ภาระภาษีสำหรับธุรกิจนั้น มีอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายสำหรับการเริ่มธุรกิจมีจำนวนเท่าไหร่ จากจุดนี้เอง การพิจารณาถึงรูปแบบ ในการจัดตั้งองค์กรธุรกิจ จึงจัดว่ามีความสำคัญในอันดับแรกๆ สำหรับการเริ่มประกอบธุรกิจเลยทีเดียว เนื่องจากปัจจุบันนี้ รูปแบบการจัดตั้งองค์กรธุรกิจ มีให้เลือกมากมายหลายประเภท ขึ้นอยู่กับความประสงค์ ของผู้ประกอบการ เช่น กิจการเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งองค์กรธุรกิจแต่ละประเภท ต่างก็มีข้อได้เปรียบ และข้อเสียเปรียบที่แตกต่างกัน การศึกษาถึงข้อดีข้อเสีย ของการจัดตั้งองค์กรธรกิจในด้านต่างๆ จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจ เลือกรูปแบบองค์กรธุรกิจที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับตนเองได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจที่นิยมจัดตั้งขึ้นในรูปแบบของนิติบุคคล ที่เราเรียกกันว่า “บริษัทจำกัด” เหตุที่เป็นที่นิยม เนื่องจากเป็นรูปแบบองค์กรธุรกิจที่ดูน่าเชื่อถือ มีภาพลักษณ์ที่ดี มีหลักมีฐาน เพราะได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการในขั้นหนึ่งแล้วว่า มีตัวตนจริง มีการจำกัดขอบเขตของความรับผิดชอบ ในหนี้สิน ที่เกิดขึ้นสำหรับผู้ลงทุน การลดภาระภาษีอากร โดยนำรายได้ต่างๆ หักจากรายจ่าย และสามารถยกยอดขาดทุนสะสมของปีที่ผ่านมา มาตัดกำไรในการประกอบการปีต่อๆ ไปได้อีก เป็นต้น
ถึงแม้บ่อยครั้งเราจะได้ยินคำว่า “บริษัทจำกัด” หรือได้เห็นป้ายชื่อบริษัท ที่ติดตามอาคารร้านค้า และสถานที่ต่างๆ อยู่แทบทุกวัน แต่คุณรู้หรือไม่ว่า บริษัทจำกัดคืออะไร จะจัดตั้งอย่างไร จะต้องติดต่อหน่วยงานราชการไหน ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายเท่าไร เราจะจัดตั้งได้เองหรือเปล่า หรือจะต้องว่าจ้างใคร ให้ดำเนินการแทน คำถามเหล่านี้ จะได้ยินบ่อยมาก สำหรับความหมายของบริษัทจำกัด และรายละเอียดเกี่ยวข้อง คือ ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ที่พอจะสรุปได้ว่า บริษัทจำกัด คือ บริษัทประเภทที่ตั้งขึ้น ด้วยแบ่งทุน เป็นหุ้นมูลค่าเท่าๆ กัน โดยมีผู้ถือหุ้นรับผิดจำกัด เพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นทีตนถือ นอกจากนั้น ในการจดทะเบียนบริษัทจำกัด จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ กำหนด พร้อมทั้งปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นสวน และบริษัท พ.ศ.2538
ขั้นตอนการจดทะเบียนตั้งบริษัทด้วยตัวเอง
ส่วนคำถามที่ว่า เราจะดำเนินการจัดตั้งบริษัทด้วยตนเองดี หรือจะต้องว่าจ้างนักกฎหมาย ทนายความ หรือบริษัทที่เปิดให้บริการให้คำปรึกษา ทางด้านนี้โดยเฉพาะหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสะดวก และต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งบริษัทจำกัด มีขั้นตอนอยู่พอสมควร แต่ไม่ยุ่งยากมากนัก ถ้าจะดำเนินการด้วยตนเอง โดยการขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วจัดเตรียมคำขอ และเอกสารเพื่อการยื่นจดทะเบียน อย่างไรก็ตาม หากผู้เริ่มประกอบธุรกิจ ต้องการความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา ก็อาจว่าจ้างบุคคลอื่น ไปดำเนินการแทนได้ โดยผู้ประกอบการไม่ต้องทำอะไรมาก นอกจากการตระเตรียมข้อมูล และลงลายมือชื่อในเอกสารเท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับการให้บริการนี้ จะขึ้นอยู่กับประเภทของผู้ให้บริการ ถ้าผู้ให้บริการ เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป ค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่า การใช้บริการจากบริษัทสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานบัญชีทั่วไป
บทความนี้ จะขอกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทจำกัดด้วยตนเอง โดยไม่อยากจะว่าจ้างใคร ให้มาดำเนินการให้ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย สำหรับผู้ที่คิดจะเริ่มประกอบธุรกิจอันแรก เป็นของตนเอง ในยุคที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว การจัดตั้งบริษัทนั้น จะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้
1. การขอจองชื่อบริษัท ผู้ประกอบการจะต้องนึกถึงว่าธุรกิจของตน ควรจะใช้ชื่ออะไร ที่จะสะดุดหูผู้คน มีความหมายดี และที่สำคัญคือต้องไม่เหมือน หรือคล้ายกับนิติบุคคลอื่น ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เพราะอาจจะทำให้บุคคลทั่วไป หลงเข้าใจผิด หรือสับสน ชื่อที่ตั้งขึ้นนั้นก็แล้วแต่ความพึงพอใจของผู้ประกอบการ อาจตั้งชื่อเป็นภาษาไทย หรือภาษาต่างประเทศก็ได้ แต่จะต้องไม่มีคำ หรือข้อความใดๆ ที่ขัดกับระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วน บริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน และบริษัท พ.ศ.2538 เช่น การตั้งชื่อบริษัทจำกัดที่มีคำ หรือข้อความที่เกี่ยวกับพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี รัชทายาท หรือพระบรมวงศานุวงศ์ ในพระราชวงศ์ปัจจุบัน การตั้งชื่อที่อาจก่อให้เกิดสำคัญผิดว่าส่วนราชการของประเทศไทย หรือต่างประเทศเป็นเจ้าของ หรือผู้ดำเนินการ การตั้งชื่อที่ขัดต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น ปัจจุบันการจองชื่อกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และไม่มีค่าใช้จ่าย โดยการลงทะเบียน และจองชื่อผ่านทางเว็บไซต์ http://www.dbd.go.th/ นายทะเบียน จะใช้เวลาตรวจสอบภายใน 1 วัน แล้วจะแจ้งผลการจองชื่อกลับมาทางอี-เมล์ ว่าชื่อบริษัทที่จองไว้ ว่าซ้ำกับบริษัทอื่นที่จดทะเบียนไว้หรือไม่ หากไม่ซ้ำ นายทะเบียน ก็จะอนุญาตให้ใช้ชื่อที่จอง เพื่อจดทะเบียนบริษัทได้ ซึ่งบางครั้งอาจจะแจ้งกลับมาภายใน 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น ชื่อของผู้ที่ใช้จองชื่อบริษัทจำกัดนั้น ควรจะเป็นผู้เริ่มก่อการบริษัทด้วย หากใช้ชื่อผู้ที่จอง เป็นบุคคลที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว จะทำให้เสียเวลารอให้ชื่อที่จองแล้วนั้นหมดอายุ แล้วถึงจองชื่อใหม่ได้ ผู้ที่จองชื่อควรจะจองชื่อเผื่อไปอีก 2-3 ชื่อ (รวมเป็นชื่อที่สามารถจองทางเว็บไซด์ได้ทั้งหมด 3 ชื่อ) เพราะชื่อที่จองอาจจะซ้ำกับนิติบุคคลอื่น
2. การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ เมื่อได้รับอนุญาตให้จองชื่อแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องไปจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จองชื่อ จะต้องมีผู้เริ่มก่อการ (บุคคลธรรมดา) อย่างน้อย 7 คน ผู้เริ่มก่อการคนใดคนหนึ่ง จะเป็นผู้เริ่มก่อการผู้ขอจดทะเบียน โดยการซื้อแบบฟอร์ม และทำหน้าที่ดำเนินการขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานบริการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท หรือสำนักงานจดทะเบียนการค้าประจำจังหวัด รายละเอียดในหนังสือบริคณห์สนธิ จะต้องมีรายการดังต่อไปนี้
• ชื่อบริษัท
• จังหวัดที่ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท
• วัตถุประสงค์ทั้งหลายของบริษัท
• ข้อแถลงแสดงว่าความรับผิดของผู้ถือหุ้น มีจำกัด
• จำนวนทุน จำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้นของบริษัท
• ชื่อ ที่อยู่ อาชีวะ และจำนวนหุ้น ซึ่งต่างคนต่างเข้าชื่อซื้อไว้ ของผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท และลายมือชื่อของผู้เริ่มก่อการทุกคน
เมื่อเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาคำขอจดทะเบียน และเอกสารประกอบการจดทะเบียนแล้ว ถ้าถูกต้องไม่มีอะไรต้องแก้ไข ก็จะสั่งให้ชำระค่าธรรมเนียม ผู้เริ่มก่อการที่ขดจดทะเบียนตามทุนที่ขอจดทะเบียน คือทุนจดทะเบียนทุกๆ 100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียม50 บาท เศษของหนึ่งแสนบาท คิดเท่ากับหนึ่งแสนบาท และสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้
ผู้ก่อการต้องทำอะไรบ้าง
3. การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท หลังจากที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิให้แล้ว ผู้เริ่มก่อการ จะต้องหาทุนมาใช้ในกิจการของบริษัท ตามจำนวนที่ได้ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งการหาทุน หรือระดมทุนกระทำได้โดยการขายหุ้น ผู้เริ่มก่อการที่เป็นผู้ดำเนินกิจการอาจจะเข้าซื้อกันเอง หรืออาจจะชักชวนเสนอขายให้กบบุคคลที่สนใจ ให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วยก็ได้ แต่อย่าลืมว่า ผู้เริ่มก่อการที่มีรายชื่ออยู่ในหนังสือบริคณห์สนธิ จะต้องเข้าซื้อหุ้นของบริษัท อย่างน้อยคนละ 1 หุ้น เมื่อมีผู้เข้าซื้อหุ้นกันจนครบตามมูลค่าแล้ว ก็จะต้องจัดให้มีการประชุมผู้เข้าชื่อจองซื้อหุ้นทั้งหมด เพื่อมาตกลงกันในเรื่องต่างๆ ของบริษัท โดยผู้เริ่มก่อการ จะออกหนังสือนัดประชุมนี้ เราเรียกว่า “การประชุมตั้งบริษัท” หนังสือนัดประชุมนี้ จะต้องออกก่อนวันประชุมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งกิจกรรมที่จะต้องทำให้ที่ประชุมจัดตั้งบริษัท มีดังนี้
• ทำความตกลงกันเรื่องข้อบังคับของบริษัท ข้อบังคับนี้เปรียบเสมือนกฎกติกา หรือระเบียบของบริษัท ที่จะกำหนดว่าบริษัทจะดำเนินการอย่างไร ในลักษณะใด ข้อบังคับ จะมีความสำคัญมาก ต่อการดำเนินกิจการของบริษัท ที่ผู้ถือหุ้น และกรรมการบริษัท จะละเลยมิได้ เพราะข้อบังคับจะกล่าวถึงหุ้น และผู้ถือหุ้น การโอนหุ้น กรรมการบริษัท การประชุมบริษัท การเพิ่ม และการลดทุน การจ่ายเงินปันผล ฯลฯ
• ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญา ซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ และค่าใช้จ่ายที่ผู้เริ่มก่อการ ได้ออกทดรองไปในการเริ่มก่อตั้งบริษัท เพราะก่อนที่บริษัทจะได้ก่อตั้งขึ้น ผู้เริ่มก่อการ อาจมีธุรกรรม หรือไปทำสัญญาบางอย่างเพื่อประโยชน์ของบริษัท เช่น ทำสัญญาเช่า สัญญาซื้อขายอุปกรณ์สำนักงาน หรือสัญญาจ้างพนักงาน ซึ่งสัญญาเหล่านี้ จะมีผลผูกพันบริษัท ได้ ก็ต่อเมื่อบริษัทได้ให้สัตยาบัน หากบริษัทยังไม่ให้สัตยาบัน ธุรกรรมต่างๆ ที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไปก่อนที่จะมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ผู้เริ่มก่อการยังคงต้องรับผิดชอบ เป็นการส่วนตัว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ที่ประชุมตั้งบริษัท อนุมัติเห็นชอบ หรือที่เรียกว่า การให้สัตยาบัน
• การกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ์ หรือหุ้นสามัญ ที่ชำระด้วยอย่างอื่น นอกจากตัวเงิน เนื่องจากบางบริษัท อาจจะมีหุ้นสามัญเพียงประเภทเดียว หรือบางบริษัท อาจจะมีทั้งหุ้นสามัญ และหุ้นบุริมสิทธิ์ หากมีหุ้นบุริมสิทธิ์ ก็ต้องกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ์ รวมทั้งกำหนดสภาพ และบุริมสิทธิ์แห่งหุ้นนั้นๆ ว่าเป็นสถานใดเพียงใด ในส่วนของหุ้นสามัญ ก็ต้องกำหนดจำนวนหุ้นสามัญ หากมีบางส่วนที่ต้องชำระเป็นอย่างอื่นนอกจากตัวเงิน ก็ต้องมาทำความตกลงกันในที่ประชุม
• การเลือกตั้งกรรมการ และผู้สอบบัญชีชุดแรกของบริษัท และกำหนดอำนาจของบุคคลเหล่านั้นว่ามีอะไร และทำอะไรได้บ้าง
นอกจากนั้น ที่ประชุมอาจทำการพิจารณา และตกลงกันในเรื่องอื่นๆ ได้ตามแต่ที่ประชุมจะเห็นสมควร เมื่อประชุมจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว และกรรมการได้รับชำระค่าหุ้น จากผู้เริ่มก่อการ และผู้เข้าชื่อจองซื้อหุ้นครบถ้วนแล้ว คณะกรรมการชุดแรกของบริษัท จะต้องจัดทำคำของ และรายการจดทะเบียนพร้อมเอกสารประกอบ โดยกรรมการผู้มีอำนาจตามมติที่ประชุมตั้งบริษัท เป็นผู้ลงลายมือชื่อในเอกสาร แล้วดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้น ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 3 เดือน นับแต่วันประชุมตั้งบริษัท เมื่อเจ้าหน้าที่ได้พิจารณาคำขอจดทะเบียน และเอกสารประกอบการจดทะเบียนแล้ว ถ้าถูกต้องไม่มีอะไรต้องแก้ไข ก็จะสั่งให้ชำระค่าธรรมเนียม โดยคิดค่าธรรมเนียม ตามทุนที่ขอจดทะเบียน คือทุนจดทะเบียนทุก ๆ 100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียม 500 บาท เศษของหนึ่งแสนบาท คิดเท่ากับหนึ่งแสนบาท แต่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำอยู่ที่ 5,000 บาท และสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท เมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนให้
ขอบคุณบทความดีดีจาก : คุณวิภาดา คลังเปรมจิตต์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2545
คลิกดู โรงพิมพ์เจอาร์